ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์นิวร้อยแปด
ภาพจาก : pixabay.คอม
มันเทศเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง บ้านเราสามารถซื้อหารับประทานได้ง่ายทั้งมันเผา หรือ มันนึ่ง อยากรู้ว่ามันเทศแต่ละสีมีประโยชน์อย่างไรไปฟังคำตอบกัน
ผศ.ดร.ปรัญรัชต์ ธนวิยุทธ์ภักดี อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มันเทศเป็นแหล่งสำรองอาหารในภาวะวิกฤติ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ เนื่องจากมันเทศเป็นพืชที่ทนต่อความแห้งแล้ง ใช้น้ำน้อยในการเจริญเติบโต ในบ้านเราการบริโภคมันเทศยังไม่เป็นที่แพร่หลาย อีกทั้งความรู้เกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการจากมันเทศและอาหารจากมันเทศยังมีจำกัด มันเทศพันธุ์ไทยของเรานั้นมีหลายสี ทั้ง สีม่วง สีส้ม สีเหลือง และสีขาว ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าคนไทยส่วนใหญ่นิยมรับประทานมันเทศสีม่วงมากที่สุด ซึ่งมันเทศแต่ละสีนั้นเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่สำคัญสัดส่วนอยู่ที่ 20 - 25 กรัม ต่อ 100 กรัมของมันเทศ โดยความต้องการคาร์โบไฮเดรตต่อวันจะอยู่ประมาณ 300 กรัม
ด้าน ผศ.ดร.เอกราช เกตวัลห์ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มันเทศแต่ละสีให้คุณค่าทางโภชนาการต่างกัน ดังนี้
มันเทศสีม่วง จะมีสารแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีคุณสมบัติช่วยชะลอสัญญาณแห่งวัย นอกจากนี้ยังลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด สารแอนโทไซยานิน ในมันเทศพันธุ์ไทยสีม่วง เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับของนอกอย่างตระกูล เบอร์รี่ พบว่ามันเทศพันธุ์ไทยบ้านเรามีเยอะกว่า หรือเมื่อเทียบกับมันเทศสายพันธุ์ญี่ปุ่น ซึ่งมันเทศสายพันธุ์แนะนำของไทยเรามีศักยภาพไม่แพ้กัน และอาจจะมากกว่าด้วย
มันเทศสีส้ม พบสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ เช่น สารเบต้าแคโรทีน ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง เสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย นอกจากนี้สารเบต้าแคโรทีนเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ ช่วยป้องกันโรคตาบอดกลางคืน
มันเทศสีเหลือง มีประโยชน์คล้ายคลึงกับมันเทศสีส้ม เนื่องจากพบสารเบต้าแคโรทีนเช่นเดียวกัน แต่พบในปริมาณที่น้อยกว่า ซึ่งการรับวิตามินเอจากพืชเป็นข้อดีอย่างยิ่ง เพราะจะไม่เกิดภาวะเป็นพิษเนื่องจากได้รับมากเกินไปดังเช่นได้รับจากแหล่งอื่น เช่น วิตามินเอจากสัตว์ เพราะร่างกายสามารถเลือกเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนที่ได้รับจากพืชเป็นวิตามินเอ ตามปริมาณที่ร่างกายต้องการได้รับเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะสะสมไว้ตามเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและจะทยอยดึงมาใช้ภายหลัง
มันเทศสายพันธุ์แนะนำของไทยยังมีเส้นใยอาหารสูงประมาณ 60 -70 % ของปริมาณใยอาหารที่ร่างกายต้องการต่อวัน (ปริมาณที่ร่างกายต้องการ 25 กรัม) เมื่อรับประทานเข้าไปจะอิ่มท้อง อีกทั้งเป็นสารที่ไม่ให้พลังงาน จึงช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้ ช่วยในการขับถ่าย ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
มันเทศที่เราเห็นบ่อยคือ มันเทศนึ่ง หรือเผา แต่ความจริงแล้วสามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลาย ล่าสุด ทีมวิจัยของสถาบันโภชนาการ นำโดย ดร.ณัฐิรา อ่อนน้อม ได้พัฒนาเมนูอาหารบนโต๊ะจากมันเทศสายพันธุ์ไทยทั้ง 4 สีกว่า 30 เมนู เนื่องจากมันเทศสามารถเข้ากับส่วนผสมอื่นๆ ได้หลายชนิด จึงสามารถนำมาปรุงอาหารได้ทั้งอาหารคาว อาหารหวาน และอาหารว่าง เช่น มัสมั่น ทอดมัน ห่อหมก แกงจืดเห็ดหอมหมูสับ ซุปไก่ ข้าวต้มเครื่อง วาฟเฟิล บัวลอย กระหรี่พัพ คัพเค้ก สังขยามันเทศ ขนมถ้วยฟู เม็ดขนุน ขนมมัน ไข่นกกระทา ตะโก้มันเทศ ข้าวเหนียวปิง ขนมหม้อแกง ซาลาเปา หมั่นโถ โตเกียวไส้หวาน ขนมปังฝรั่งเศส โดนัท และอีกหลายๆ เมนู