ข้อมูลจาก : สำนักโรคเอดส์ฯ / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
ภาพจาก : pixabay.com
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะ 4 ข้อสำคัญ ในการปฎิบัติตัวให้ความรักช่วงวันวาเลนไทน์เป็นรักที่ปลอดภัย พร้อมร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมรณรงค์ ในห้วข้อ “SEX รอบคอบตอบ OK : เรื่องเท่ๆ กับรักของเรา”
โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบว่าปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ แนวโน้มอัตราป่วยที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นสัญญาณที่บอกถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวีได้ โดยในช่วงปี 2553-2559 พบว่าอัตราการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจาก 20.43 เป็น 25.74 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ซึ่งมี 5 โรคหลัก ได้แก่ โรคหนองใน โรคหนองในเทียม โรคซิฟิลิส โรคแผลริมอ่อน และโรคกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง ซึ่งกลุ่มที่พบโรคหนองในและโรคซิฟิลิสมากที่สุด คือช่วงอายุ 15-24 ปี รองลงมาเป็นอายุ 25-34 ปี จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยเรียน วัยเจริญพันธุ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างไม่ปลอดภัย อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี โดยผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยมากกว่าผู้ที่ไม่ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ประมาณ 5-9 เท่า
สำหรับวิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุด คือ ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ที่สำคัญต้องใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี โดยเลือกให้ถูกไซส์ ใช้ให้ถูกขั้นตอน เก็บถูกวิธี ดูวันผลิต วันหมดอายุ และเลือกซื้อถุงยางอนามัยที่ไม่มีรอยฉีกขาด ส่วนกรณีที่ใช้สารหล่อลื่น ควรใช้สารหล่อลื่นชนิดที่มีน้ำหรือซิลิโคนเป็นส่วนผสมเท่านั้น หากสงสัยหรือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว ป้องกันการแพร่เชื้อ และไปตามนัดทุกครั้งจนกว่าจะหายขาด นอกจากนี้ ควรชวนคู่ไปตรวจด้วย เพื่อเป็นการป้องกันโรคและไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก ให้งดการร่วมเพศจนกว่าจะหาย ที่สำคัญไม่ควรซื้อยากินเอง
นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวอีกว่า ในโอกาสเทศกาลวันแห่งความรักปีนี้ กรมควบคุมโรค มีคำแนะนำสำหรับกลุ่มวัยรุ่นในการปฎิบัติตัวให้ความรักช่วงวันวาเลนไทน์เป็นรักที่ปลอดภัย 4 ข้อ ดังนี้
1.หลีกเลี่ยงไม่อยู่สองต่อสอง หรือไม่อยู่ในสถานการณ์ที่จะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย
2.ปฏิเสธเมื่อไม่พร้อมมีเพศสัมพันธ์ หรือเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย
3. พกถุงยางอนามัยติดตัวไว้เสมอ และใช้อย่างถูกวิธี
4. ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพราะการใช้ถุงยางอนามัยแสดงถึงความรับผิดชอบตนเองและคู่ ให้ปลอดภัยไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ ขอเชิญชวนประชาชนทุกท่าน ร่วมตรวจสุขภาพทางเพศให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422