“หัวใจเต้นผิดจังหวะ” | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

“หัวใจเต้นผิดจังหวะ”

Date : 29 February 2024

ข้อมูลจาก : ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์  ภาควิชาอายุรศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาพจาก : pixabay.com
 
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ นับเป็นภัยเงียบใกล้ตัว สาเหตุเกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร และปัจจุบันมีวิธีการรักษาด้วยวิธีอะไรบ้าง มารู้จักกับโรคนี้กันครับ
หัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น หัวใจเต้นเร็ว กับ หัวใจเต้นช้า หรือ หัวใจเต้นจังหวะไม่สม่ำเสมอ
สาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะมีได้หลายอย่าง อาทิ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจอยู่เดิม มักจะสัมพันธ์กับโรคหัวใจที่เป็นอยู่เดิม เช่น โรคหัวใจขาดเลือดที่เกิดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ เกิดจากโรคของกล้ามเนื้อหัวใจ ก็สามารถทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถึงแม้ผู้ป่วยจะไม่เคยเป็นโรคหัวใจอยู่เดิม หัวใจเต้นผิดจังหวะก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ครับ ในบางกรณีไม่เลือกวัยของผู้ป่วย อายุน้อย ๆ ก็เป็นได้เช่นเดียวกัน อาจจะเกิดจากมีวงจรไฟฟ้าผิดปกติที่หัวใจ โดยไม่เคยรู้เลยมาก่อน ทำให้มีอาการหัวใจเต้นเร็วขึ้นมาอย่างทันที ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอายุมากถึงแม้ว่าจะไม่เคยเป็นโรคหัวใจอยู่เดิม แต่อาจจะมีความเสื่อมสภาพของระบบไฟฟ้าของหัวใจทำให้หัวใจเต้นช้ามาก และอาจจะมีอันตรายได้

อาการของผู้ป่วยอาจจะขึ้นกับชนิดของจังหวะหัวใจที่ผิดปกติ ถ้าจังหวะของหัวใจผิดปกติ เป็นชนิดเต้นเร็วหรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ผู้ป่วยอาจจะมาด้วยอาการใจสั่น ผู้ป่วยมักจะรู้ว่ามีอาการผิดปกติ ผู้ป่วยก็จะรู้สึกว่าหัวใจเต้นปกตินะ บางครั้งผู้ป่วยก็จะบอกว่าเต้นรัว หรือไม่สม่ำเสมอ แล้วก็มาพบแพทย์ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องหัวใจเต้นช้า ก็จะมาหาแพทย์ด้วยอาการ เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม ในบางราย อาจจะถึงกับหมดมีสติและก็ฟื้นขึ้นมา และญาตินำส่งหาแพทย์ เพราะฉะนั้นจะขึ้นกับชนิดของจังหวะของหัวใจที่ผิดปกติว่าเป็นอย่างไร อาการบางอย่างอาจจะแยกยากจากความผิดปกติหรือโรคหัวใจอย่างอื่น บางครั้งผู้ป่วยอาจะมาด้วยอาการเหนื่อยผิดปกติก็สามารถเป็นไปได้ เนื่องจากจังหวะหัวใจผิดปกติบางชนิดอาจจะรบกวนทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติทำให้มีอาการเหนื่อยได้

กลุ่มเสี่ยงจะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาโรคหัวใจอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจตีบ ผู้ป่วยที่เคยทำผ่าตัดหัวใจ หรือผู้ป่วยที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ พวกนี้ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นหัวใจเต้นผิดปกติมากกว่าคนที่ไม่เป็นโรคหัวใจอยู่เดิม อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่มีโรคหัวใจอยู่เดิมก็จะมีอาการหัวใจ ฉะนั้นถ้ามีอาการผิดปกติสงสัยว่าเป็นโรคหัวใจไม่ว่าจะเป็น อาการเกี่ยวกับใจสั่น หัวใจเต้นรัวหรือว่าอาการคล้าย ๆ หน้ามืดเป็นลมก็ปรึกษาแพทย์เพื่อที่จะให้แพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยโรค และรักษาต่อไป

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีทั้งชนิดที่เป็นอันตรายมากและชนิดที่มีอันตรายน้อย ชนิดที่มีอันตรายมากมักจะเกิดในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจอยู่เดิม โดยที่จังหวะหัวใจเต้นผิดปกติ อาจจะเต้นรัวมาก บางชนิดอาจจะเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ชนิดที่เป็นอันตรายน้อยก็มี บางราย โดยเฉพาะอายุน้อยๆ ถึงแม้จะมีหัวใจเต้นผิดปกติความเสี่ยงของผู้ป่วยอาจจะน้อย ถ้าไม่เป็นโรคหัวใจอยู่เดิม ควรจะปรึกษาแพทย์เนื่องจากการรักษาบางอย่างสามารถทำให้จังหวะหัวใจที่ผิดปกติกลับหายเป็นปกติได้

แนวทางการรักษา มีได้หลายชนิด ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องได้รับการรักษาวิธีพิเศษนอกเหนือจากการรับประทานยา แพทย์จะแนะนำผู้ป่วยเองว่าหัวใจเต้นผิดปกติชนิดไหนควรจะต้องการรักษาอย่างไร บางรายแพทย์แนะนำให้รับประทานยาอย่างเดียว บางรายอาจแนะนำให้รักษาวิธีอื่นนอกเหนือจากการรับประทานยา ตัวอย่างเช่น การใส่สายตรวจสวนหัวใจเข้าไปตรวจเช็ควงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติที่หัวใจ และก็ทำการรักษาโดยการใช้คลื่นความถี่วิทยุจี้บริเวณวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติ สามารถทำให้วงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติหายขาดได้ ซึ่งจะใช้การวิธีการรักษาชนิดนี้กับผู้ป่วยที่มีจังหวะหัวใจที่เต้นรัว เร็ว ผิดปกติในบางราย ในบางรายแพทย์อาจจะแนะนำให้ใช้วิธีการรักษาโดยฝังเครื่องที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น เครื่อง กระตุ้นหัวใจ หรือ Pacemaker ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาหัวใจเต้นช้าและนำไปสู่อาการเป็นลมหมดสติ ในบางรายที่มีจังหวะหัวใจผิดปกติที่อาจจะนำไปสู่การเสียชีวิตได้ แพทย์อาจจะแนะนำให้ฝังเครื่องเราเรียกว่าเครื่องกระตุกหัวใจ หรือ Internal Defibrillator เพื่อที่จะรักษาผู้ป่วย ในกรณีที่มีจังหวะผิดปกติที่จะทำให้เสียชีวิตได้ เครื่องก็จะปล่อยกระแสไฟฟ้าช็อกให้หัวใจกลับมาให้เป็นปกติได้ เพราะฉะนั้นการรักษาจะขึ้นกับผู้ป่วยชนิดที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะว่าควรจะรักษาอย่างไรซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ผู้ป่วยทั่วไปถ้าเป็นโรคหัวใจอยู่ ควรจะรักษาตามที่แพทย์แนะนำควรจะรับประทานยาสม่ำเสมอถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติ แต่ถ้าแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคหัวใจควรจะทำตามแพทย์แนะนำ ควรจะมาตรวจตามนัดและรับประทานยาสม่ำเสมอ ก็จะป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากหัวใจที่เป็นอยู่ได้ ถ้าเราไม่เคยเป็นโรคหัวใจอยู่เดิม ก็ควรจะดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ควรออกกำลังสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีผลไม่ดีต่าง ๆ  และก็ตรวจเช็คสุขภาพเป็นระยะ ๆ ควรจะรู้อาการว่าอาการเบื้องต้นของโรคต่าง ๆ เป็นอย่างไร  ในกรณีที่มีอาการผิดปกติควรจะปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยตรวจเช็คเพิ่มเติมต่อไป