12 ผลไม้เพื่อสุขภาพจากโครงการหลวง | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

12 ผลไม้เพื่อสุขภาพจากโครงการหลวง

Date : 29 March 2017

ข้อมูลจาก : ธิดารัตน์ จันทร์ดอน สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพจาก : pixabay.com

ปัจจุบันนี้ความนิยมในการบริโภคผักผลไม้และผลิตภัณฑ์เกษตรเพื่อสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริในการจัดตั้งโครงการหลวงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา และดำเนินงานเพื่อการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชชนิดต่างๆ ทั้งไม้ยืนต้น พืชไร่ ผัก สมุนไพร ไม้ดอก รวมทั้งไม้ผลที่สามารถเพาะปลูกบริเวณภาคเหนือตอนบนของไทย


ส่งผลให้ผลผลิตจากโครงการหลวงเป็นที่แพร่หลาย นอกจากเป็นแหล่งอาหารและทำรายได้ให้กับชาวเขาชุมชนต่างๆ ทางภาคเหนือแล้ว ผลไม้โครงการหลวงยังได้รับความนิยมมากขึ้นไปทั่วประเทศตลอดจนปัจจุบัน บทความนี้จึงขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับผลไม้ในโครงการหลวงหลากหลายชนิด รวมทั้งคุณค่าทางอาหารและงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพที่น่าสนใจดังต่อไปนี้


พีช (Peach: Prunus persica (L.) Batsch) หรือ ท้อ ไม้ผลเขตหนาวที่มีถิ่นกำเนิดในจีน และสามารถพบพันธุ์พื้นเมืองเจริญได้ดีบริเวณภาคเหนือตอนบนของไทย ให้ผลผลิตออกมาจำหน่ายทำรายได้ให้แก่ชาวเขาแถบนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์พืชเขตหนาวเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น โดยมีการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์พีชจากต่างประเทศ รวมทั้งเนคทารีน (Nectarine: P. persica (L.) Batsch var. nucipersica) ซึ่งมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนพีชทุกประการ เพียงแต่เนคทารีนจะไม่มีขนที่ผิวผล ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ รสชาติดี สามารถรับประทานสดหรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยทั้งพีชและเนคทารีนอุดมไปด้วยสารกลุ่มโพลีฟีนอล (polyphenols) ที่มีฤทธิ์เด่นในการต้านอนุมูลอิสระ3 และมีการศึกษาในเซลล์และสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัดจากพีชยังมีฤทธิ์ยับยั้งแองจิโอเทนซิน (angiotensin II) ซึ่งเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ(cardiovascular disease) และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะซีทิลโคลีนเอสเทอเรส(acetylcholinesterase) ซึ่งเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เป็นที่น่าสนใจศึกษาทางคลินิกต่อไปเกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพของพีชและเนคทารีน

พลัม แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ พลัมยุโรป (European plum: P. domestica L.) ถ้านำไปทำให้แห้งจะเรียกว่าพรุน (Prune: dried plum) และพลัมญี่ปุ่น (Japanese plum: P. salicina Lindl.) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกในไทย2 บางท่านอาจเรียก ลูกไหน ผลสีแดงอมม่วง ประกอบไปด้วยสารกลุ่มแอนโทไซยานิน (anthocyanins) มีฤทธิ์ลดปริมาณสารพิษมาลอนไดอัลดีไฮด์ (malondialdehyde) และช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระต่างๆ น้ำคั้นผลพลัมเข้มข้นที่ประกอบด้วยสารแอนโทไซยานินในปริมาณสูงมีฤทธิ์ต้านการเกิดลิ่มเลือด โดยยับยั้งกลไกการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด อาจมีผลในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่นเดียวกับที่มีการศึกษาวิจัยในพลัมยุโรป สำหรับพรุนและน้ำพรุนมีประโยชน์ช่วยในเรื่องของการขับถ่าย และมีฤทธิ์ป้องกันภาวะกระดูกพรุนโดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

บ๊วย (Japanese apricot: P. mume Siebold & Zucc.) เป็นผลไม้ตระกูลเดียวกับพีชและพลัม ที่ชาวจีนเรียก เหมย (Mei) มีสรรพคุณแผนโบราณตามการแพทย์แผนจีน ใช้ผลบ๊วยในการรักษาอาการไอและลดไข้ และมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าสารสกัดบ๊วย MK ซึ่งประกอบด้วยสารกลุ่มไตรเตอร์ปีนอยด์ (triterpenoids) เช่น กรดโอลีนโนลิก (oleanolic acid) และกรดเออร์โซลิก (ursolic acid) มีฤทธิ์ป้องกันการทำงานของตับโดยกลไกการต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ มีผลในการลดระดับเอนไซม์การทำงานของตับ aspartate aminotransferase (AST) และ alanine aminotransferase (ALT) ในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีและผู้ป่วยภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ (non-alcoholic fatty liver disease) มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ยับยั้งเชื้อ Helicobacter pylori แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคในช่องปาก เป็นต้น

พลับ (Persimmon: Diospyros kaki L.f.) มี 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ พลับหวาน (non-astringent) และพลับฝาด (astringent) ที่ต้องนำไปขจัดความฝาดก่อนรับประทาน รสชาติหวานหอม นิยมรับประทานผลสด และนำไปแปรรูปเป็นพลับหมาดหรือพลับแห้ง พลับทั้งผลไม่ปอกเปลือกมีใยอาหารสูง อุดมไปด้วยสารสำคัญต่างๆ มีส่วนช่วยในการบำรุงสายตาและผิวพรรณ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางคลินิกพบว่าผลพลับอ่อนมีสารแทนนิน (tannin) สูง มีผลช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลฟ่า-อะไมเลส (α-amylase) และชะลอการดูดซึมคาร์โบไฮเดรตในหนูทดลอง มีผลในการช่วยลดระดับน้ำตาล17 ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาต่อไปเกี่ยวกับการรับประทานผลพลับเพื่อการป้องกันรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

สตรอว์เบอร์รี (Strawberry: Fragaria X ananassa Duch.) ผลไม้ยอดนิยมของหลายๆ ท่าน ปัจจุบันสามารถเพาะปลูกได้ดีและแพร่กระจายมากขึ้นในหลายพื้นที่ของไทย มีการคัดเลือกสายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือบริโภคผลสด เช่น พันธุ์พระราชทาน และพันธุ์พระราชทาน ที่กำลังได้รับความนิยมในการบริโภคสูงมาก สตรอว์เบอร์รีมีรูปร่างและสีสันดึงดูดใจ รสชาติเปรี้ยวจนถึงหวาน กลิ่นหอมถูกใจผู้บริโภค จัดเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง รวมทั้งอุดมไปด้วยกรดแกลลิก (gallic acid) และกรดเอลลาจิก (ellagic acid) ซึ่งพบได้มากในพืชตระกูลเบอร์รี มีประโยชน์ต่อร่างกายช่วยป้องกันและลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้

เคพกูสเบอร์รี (Cape gooseberry: Physalis peruviana L.) หรือ โทงเทงฝรั่ง เพราะมีลักษณะคล้ายกับโทงเทงไทย (P. angulata และ P. minima) ซึ่งมีรูปร่างค่อนข้างแปลก มีกลีบเลี้ยงหุ้มผลกลมๆ เล็กๆ อยู่ภายในคล้ายกับระฆัง จึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ระฆังทอง (gold bell) ในต่างประเทศนิยมนำผลสุกสีเหลืองส้มที่ต้มแล้วใส่ในพาย พุดดิ้ง ไอศกรีม และแปรรูปเป็นแยมหรือเยลลี่ มีกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว ปัจจุบันมีการพัฒนานำกลิ่นและน้ำมันจากผลสุกมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร สำหรับในประเทศไทยมีการแปรรูปเป็นนำคั้นบรรจุขวดออกมาจำหน่ายของมูลนิธิโครงการหลวง นอกจากจะรับประทานผลสดแล้ว อาจนำมาใส่สลัดบริโภคร่วมกับผักชนิดอื่นๆ ให้รสชาติหวานอมเปรี้ยว ประกอบไปด้วยวิตามินซี วิตามินเอ และวิตามินอี รวมทั้งแคโรทีนอยด์ และสารต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการต้านอนุมูลอิสระ

หม่อน หรือ มัลเบอร์รี (Mulberry: Morus alba L.) นิยมนำมารับประทานผลสด อบแห้ง และหมักเป็นไวน์ หรือแปรรูปเป็นแยม เป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำ อุดมไปด้วยสารกลุ่มโพลีฟีนอลช่วยในการต้านอนุมูลอิสระของร่างกาย และยังมีงานวิจัยพบว่าสารสกัดผลหม่อนมีฤทธิ์ช่วยในการยับยั้งเซลล์ไขมัน25 มีฤทธิ์ปกป้องระบบประสาทโดยกลไกการยับยั้งการสะสมของโปรตีนแอลฟา-ไซนิวคลีอิน (α-synuclein) ที่มีผลต่อการทำหน้าที่ของเซลล์ประสาทและเป็นสาเหตุของอาการสมองเสื่อม26 และนอกจากผลหม่อนจะมีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ใบหม่อนยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจ โดยมีการศึกษาทางคลินิกระบุว่าในใบหม่อนพบสารสำคัญ 1-deoxynojirimyrin (DNJ) มีผลช่วยลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานและลดอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้

เสาวรส (Passion fruit) หรือ กะทกรกฝรั่ง ที่ปลูกกันทั่วไปมี 2 ชนิด คือ ชนิดผลสีเหลือง (Passiflora edulis Flavicarpa) และชนิดผลสีม่วง (Passiflora edulis Sims) มีรสชาติเปรี้ยวและกลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื้อเสาวรสทั้งสองชนิดอุดมไปด้วยสารสำคัญรวมทั้งวิตามินต่างๆ นิยมนำมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ และมีการศึกษาในผู้สูงอายุทั้งเพศหญิงและชายที่สุขภาพดี ให้ดื่มน้ำเสาวรสทั้งชนิดเปลือกสีม่วงและสีเหลือง วันละ 1 แก้ว ปริมาณประมาณ 125 มล. ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ผลการศึกษาโดยรวมพบว่าเสาวรสทั้ง 2 ชนิด มีผลช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระและมีฤทธิ์ยับยั้งไซโตไคน์ (cytokine) ที่กระตุ้นให้มีการอักเสบ อย่างไรก็ตามไม่ควรดื่มน้ำเสาวรสที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณสูงเกินไป เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้

อะโวคาโด (Avocado: Persea americana Mill.) เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (monounsaturated fatty acid) มีประโยชน์ต่อร่างกายในการลดปริมาณคอเลสเตอรอลรวม คอเลสเตอรอลชนิด LDL ไตรกลีเซอร์ไรด์ รวมทั้งมีผลเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิด HDL ซึ่งเป็นผลดีต่อร่างกาย30 นอกจากนี้อะโวคาโดยังเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ น้ำตาลน้อย กลิ่นและรสชาติ รวมทั้งเนื้อสัมผัสที่นุ่มเหมาะสำหรับเป็นอาหารเสริมของเด็กทารก (infant) และเด็กวัยเตาะแตะ (toddler) ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านอาหาร (transitional feeding) สำหรับผู้ใหญ่การรับประทานอะโวคาโดยังช่วยในการดูดซึมวิตามินเอ เมื่อรับประทานควบคู่กับผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยแคโรทีนอยด์ เช่น มะเขือเทศ แครอท เป็นต้น อย่างไรก็ตามอะโวคาโดเป็นผลไม้ที่มีวิตามินเคสูง จึงควรระมัดระวังในผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน (warfarin) เพราะอาจไปยับยั้งกลไกต้านการแข็งตัวของเลือดของยาได้

กีวีฟรุต (Kiwi fruit, Chinese gooseberry) มีหลายชนิด ที่มีการเพาะปลูกในไทยและให้ผลผลิตได้ดีมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Actinidia deliciosa เป็นสายพันธุ์จากประเทศนิวซีแลนด์ รวมทั้งมีการศึกษาทดลองปลูกชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น A. chinensis และ A. arguta เป็นต้น2 กีวีฟรุตมีวิตามินซีสูงมากช่วยในการต้านอนุมูลอิสระของร่างกาย และมีกากใยสูงช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ โดยมีการศึกษาในผู้ป่วยลำไส้แปรปรวนร่วมกับมีอาการท้องผูกให้รับประทานกีวีฟรุต 2 ผล/วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่ามีผลช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบทางเดินอาหารและช่วยลดอาการท้องผูกได้

ฟิก (Fig: Ficus carica L.) หรือ มะเดื่อฝรั่ง อาจจะเป็นผลไม้ที่ยังไม่ได้รับความนิยมสำหรับคนไทยในปัจจุบัน แต่ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น มีการนำเข้าผลสดและฟิกอบแห้งจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีการทดลองปลูกในไทย ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ผลโต รสชาติดี มีสรรพคุณแผนโบราณเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยในเรื่องการขับถ่าย อุดมไปด้วยวิตามินต่างๆ รวมทั้งสารกลุ่มแอนโทไซยานิน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบเช่นเดียวกัน

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีผลไม้ในโครงการหลวงอีกหลายชนิดซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น มะม่วง มะละกอ สาลี่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เช่น บลูเบอร์รี ราสพ์เบอร์รี เป็นต้น และจากข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของผลไม้ในโครงการหลวง ถึงแม้บางงานวิจัยอาจจะยังมีข้อมูลทางคลินิกเพียงเล็กน้อย

แต่อย่างไรก็ตามการรับประทานผลไม้หลากหลายชนิดในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างเพียงพอ มีส่วนช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง และยังเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามปณิธานของมูลนิธิโครงการหลวงอีกด้วย