เลี้ยงลูกอย่างไรให้มี EQ ดี | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

เลี้ยงลูกอย่างไรให้มี EQ ดี

Date : 31 March 2017

การศึกษามานานเกี่ยวกับ EQ ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี คศ.1920 เมื่อ Edward L.Thorndike  ตั้งศัพท์ว่า “ Social intelligence” หมายถึง ความสามารถเข้าใจผู้อื่น และสามารถเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยได้อย่างเหมาะสม แต่ยังไม่ได้รับความสนใจนักจนเมื่อปี คศ.1973 Daniel Goleman จากภาควิชาจิตวิทยามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขียนบทความชี้ว่า ระดับคะแนนจากการสอบระดับเชาว์ปัญญาของนักเรียน  ไม่ได้ประกันถึงความสำเร็จในอาชีพในอนาคต ซึ่งนับจากปี คศ. 1980 เป็นต้นมา  จึงมีผู้สนใจและศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของอารมณ์ที่มีต่อสติปัญญา ความสร้างสรรค์ และพัฒนาการของบุคลิกภาพอย่างแพร่หลาย

เรื่องของเชาว์อารมณ์นี้  มีผู้ให้คำนิยามไว้หลายความหมาย อาทิ

Peter Salovey และ John D.Mayer (คศ.1990)  เชาว์อารมณ์ คือ ความสามารถของบุคคลในการที่จะไหวเท่าทันในความคิด ความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น สามารถกำกับควบคุม และจำแนกแยกแยะข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการชี้นำความคิด และการกระทำของตนเอง

Goleman (คศ.1998) เชาว์อารมณ์ คือ ความสามารถในการตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น เพื่อสร้างแรงจูงใจในตัวเอง บริหารจัดการอารมณ์ต่าง ๆ ของตนเองและอารมณ์ที่เกิดจากความสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้
 

ทำไม EQ จึงมีความสำคัญ และประโยชน์ต่อบุคคลในหลายแง่มุม ทั้งในชีวิตการงาน ครอบครัว และส่วนตัว มีหลายเรื่องครับ

1.บุคลิกภาพ EQ ช่วยส่งเสริมให้มีบุคลิกภาพที่ดี เป็นที่รักของบุคคลรอบข้าง และเป็นที่ยอมรับของสังคม เนื่องจากสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้อย่างเหมาะสม มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ดี เข้าใจความรู้สึก ความต้องการของผู้อื่น

2. การสื่อสารกับผู้อื่น สามารถแสดงความรู้สึก อารมณ์ของตนได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมตามกาลเทศะ

3. การทำงาน ช่วยในการทำงานมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีความคิดสร้างสรรค์ มีแรงจูงใจ มีความพยายาม และได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมงานที่เกี่ยวข้อง

4. การให้บริการ   ด้วยการรับฟังและเข้าใจความต้องการของลูกค้า จึงตอบสนองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

5. การบริหารจัดการ ช่วยเสริมความเป็นผู้นำ รู้จักใช้คน และครองใจคนได้

6. เข้าใจชีวิตของตนเองและผู้อื่น ผู้ที่เข้าใจตนเอง มีความอดทน ควบคุมตนเองได้ และเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็น ย่อมจะเป็นที่รักของบุคคลทั้งหลาย ส่งผลให้ทั้งชีวิตการงานและครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
 

บ่อยครั้ง มีพ่อแม่มาถามผมว่า IQ กับ EQ  มันไม่ใช่เรื่องเดียวกันหรือ ....  ไม่ใช่ครับ เพื่อความเข้าใจ ผมจะอธิบายและเปรียบเทียบให้เห็นกัน

เชาว์ปัญญา หรือ IQ (Intelligence quotient) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคคลประสบความสำเร็จในการเรียน (study success) และมีโอกาสได้รับเลือกให้เข้าทำงาน (get select)แต่การที่จะประสบความสำเร็จในวิชาชีพ (career success) หรือความสำเร็จในชีวิต (life success) นั้นจะขึ้นกับ เชาว์อารมณ์ หรือ  EQ (Emotional Quotient)  มากกว่า
 

ความสำเร็จในด้าน

ปัจจัยที่มีบทบาทมากกว่า

การแก้ปัญหาเฉพาะทาง

IQ

การเรียน

IQ

การงาน

IQ + EQ

การปรับตัว

EQ

การครองตน

EQ

การชีวิตครอบครัว

EQ

สำหรับแนวทางการพัฒนา EQ  นั้น  ล้วนมาจากการเลี้ยงดูร่วมกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็ก  ด้วยวิธีการดังนี้
1. ส่งเสริมพัฒนาการด้านจิตสังคม (Psychosocial development)   ตาม Psychosocial developmental theory ของ Erik Erikson กล่าวว่าพ่อแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านจิตสังคมแก่ลูกน้อย ด้วยการพัฒนาการด้านต่างๆ ตามช่วงลำดับอายุดังนี้

1.1 แรกเกิดถึง 1 ปี สร้างความไว้วางใจพื้นฐาน (Basic trust) โดยพ่อแม่ให้การดูแลอย่างใกล้ชิด สม่ำเสมอ ไวในการรับรู้ และตอบสนองความต้องการของเด็กอย่างถูกต้อง จะทำให้เกิดการยอมรับตนเอง (self-acceptance)และความไว้วางใจในสังคมแวดล้อม (social trust)

1.2 อายุ  1 - 2 ปี สร้างความสามารถควบคุมตนเอง (Self-Control)  โดยฝึกหัดการควบคุมร่างกายในการกิน  นอน และขับถ่ายอย่างเหมาะสม  ไม่เข้มงวดเกินไป ให้เด็กมีโอกาสเล่นและสำรวจสิ่งแวดล้อมโดยพ่อแม่คอยดูแลป้องกันอันตรายอยู่ใกล้ เด็กจะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง (autonomy) เกิดขึ้น

1.3 อายุ 3 - 5 ปี พัฒนาความคิดริเริ่ม (initiative)  ส่งเสริมให้มีโอกาสเล่นสมมติ เล่นแบบใช้  จินตนาการ เปิดโอกาสให้เด็กแสดงความคิดเห็น และรับฟัง สนใจ และตอบคำถามที่เด็กถาม

1.อายุ 6 -12 ปี พัฒนาความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน (industry) ให้โอกาส และส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ และฝึกฝนในการกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ทั้งรับผิดชอบตัวเองในกิจวัตรประจำวัน การเรียน และมีส่วนร่วมรับผิดชอบในงานส่วนรวมในบ้าน

2. ฝึกให้มีระเบียบวินัย (discipline) โดยกำหนด “กฏเกณฑ์ในบ้าน” (house’s rule) ที่ชัดเจนเช่นเดียวกับตารางกิจวัตรประจำวัน หน้าที่รับผิดชอบในเรื่องส่วนตัว และส่วนรวมในบ้าน  กิริยามารยาท  ให้ขอบเขตที่ชัดเจนว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้  ซึ่งรายละเอียดของ house’s rule ของแต่ละครอบครัวจะแตกต่างกันตามสภาพทางสังคม ความเป็นอยู่ของครอบครัวนั้น ๆ  ข้อกำหนดสำหรับสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวก็แตกต่างกันไปตามอายุ เพศ ฯลฯ ซึ่งพ่อแม่จะเป็นผู้กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของลูกประกอบ และสื่อให้ทุกคนรู้ข้อตกลงอย่างชัดเจน

การฝึกระเบียบวินัย จะได้ผลต่อเมื่อผู้ใหญ่ในบ้านเห็นความสำคัญ ร่วมมือกันไม่ขัดแย้งกัน ฝึกสม่ำเสมอต่อเนื่อง ด้วยท่าทีที่จริงจังแต่นุ่มนวล หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์รุนแรง และให้แรงเสริม (reinforcement) ต่อพฤติกรรมที่ดีโดยการแสดงความชื่นชม โดยคำพูด หรือโดยกิริยาเช่น  ยิ้ม โอบกอด เป็นต้น เด็กที่มีระเบียบวินัยจะมีความอดทน สามารถรอคอย ควบคุมและจัดการกับอารมณ์ได้ดี 

3. ฝึกให้รู้จักแก้ปัญหา (Problem solving skills) โดยเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ลูกคิด ลองแก้ปัญหาด้วยตนเอง และให้คำปรึกษาตามที่เด็กต้องการหรือเข้าช่วยเหลือเมื่อสิ่งนั้นยากเกินความสามารถของลูกเท่านั้น

4. ฝึกทักษะทางอารมณ์ (Emotional coaching) การช่วยให้เด็กมีการพัฒนาเชาว์อารมณ์นั้นผู้ดูแลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อแม่ ครู อาจารย์ ก็ต้องใช้เชาว์อารมณ์กับเด็กๆ ด้วย ต้องสามารถตระหนักรู้อารมณ์ของเด็กๆ สามารถที่จะเห็นอกเห็นใจเขา ช่วยปลอบโยน ระงับอารมณ์ และจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นนั่นล่ะ เรื่องใหญ่สำหรับผู้เป็นพ่อแม่

 

ซึ่่งต้องฝึกทักษะทางอารมณ์ดังต่อไปนี้
1. เข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกของลูก (Empathy) เป็นพื้นฐานสำคัญของการฝึกทักษะทางอารมณ์ พ่อแม่ต้องตระหนักในความสำคัญ และไวในการรับรู้ภาวะอารมณ์ของลูก เข้าใจและยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นของลูก ไม่ดูถูก ล้อเลียน หรือตำหนิติเตียน ที่ลูกแสดงอารมณ์ต่างๆ ออกมา เช่น “แม่เข้าใจ ลูกคงเสียใจมากที่เพื่อนไม่เข้าใจความหวังดีของลูก”

2. สอนทักษะทางอารมณ์ในขณะที่ลูกกำลังเกิดอารมณ์นั้นๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ด้านบวกหรือลบและเป็นโอกาสที่จะได้ใกล้ชิด  ลูกจะเข้าใจได้ดีถ้าสอนขณะที่อารมณ์นั้นๆ ยังคงอยู่

3. รับฟังและยอมรับความรู้สึกของลูกที่เกิดขึ้น ให้ลูกรู้ว่าไม่ผิดที่เขาจะรู้สึกเช่นนั้น และสะท้อนคำพูดความรู้สึกของเขา เช่น “เข้าใจที่ลูกบอกว่าลูกผิดหวังที่คุณพ่อผิดสัญญา ลูกคงเสียใจและน้อยใจ”

4. ช่วยลูกหาชื่อที่ใช้เรียกอารมณ์ที่เขากำลังมีอยู่ รวมทั้งช่วยเขาหาคำอธิบายเกี่ยวกับอารมณ์นั้นๆ ให้รู้จักอารมณ์ของเขาให้ชัดเจน เช่น “ลูกกำลังรู้สึกโกรธ เพราะน้องมาทำของหนูเสีย เวลาใครมาทำให้ของที่รักเสียหาย เราก็รู้สึกโกรธ ไม่พอใจ และอยากจะโต้ตอบเขาบ้าง”

5. กำหนดขอบเขตพฤติกรรมที่จะแสดงออกในอารมณ์นั้นๆ ให้ลูกเข้าใจว่าอารมณ์ ความรู้สึกทุกชนิดเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่พฤติกรรมที่จะแสดงออกขณะนั้นๆ มีขอบเขตจำกัด

ที่สำคัญ พ่อแม่ต้องเสียสละเวลาให้ลูก มีความอดทนสูง ใจเย็น ไม่ปิดกั้นการแสดงอารมณ์ด้านลบของลูก แต่ใช้เป็นโอกาสในการแนะนำพฤติกรรมที่เหมาะสม  แล้วลูกของท่านจะเป็นผู้มี EQ ดีในอนาคต