ข้อมูลจากฝ่ายโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาพจาก : pixabay.com
เรื่องอาหารเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสุขภาพของคนเราโดยเฉพาะผู้ที่จะเตรียมตัวเป็นแม่ในอนาคตร่างกายของแม่ จะต้องสมบูรณ์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ไม่ควรขาดสารอาหารใด ๆ สารอาหารสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาการของสมองของทารก ได้แก่
- โปรตีน มีมากในเนื้อสัตว์ ถั่วเมล็ดแห้ง ผลิตภัณฑ์นมและไข่ ถ้าขาดจะทำให้การเจริญเติบโตของทารกไม่เป็นปกติ การพัฒนาสมองไม่สมบูรณ์
- แร่ธาตุเหล็ก มีมากในเลือด ตับ เนื้อสัตว์ ไข่ ถ้าขาดทำให้แม่เป็นโลหิตจางมีผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของทารก
- ไอโอดีน มีมากในอาหารทะเล เกลือเสริมไอโอดีน ถ้าแม่ขาดจะทำให้การพัฒนาสมองทารกผิดปกติ ทารกเกิดมาเป็นโรคเอ๋อ ปัญญาอ่อน หูหนวก เป็นใบ้ การทำงานของกล้ามเนื้อไม่ประสานกัน
- วิตามินโฟเลท มีมากในตับ และผักใบเขียว เช่น กุ่ยช่าย หน่อไม้ฝรั่ง หญิงตั้งครรภ์ ต้องการโฟเลทเพื่อการสร้างเซลล์สมองของทารก โดยเฉพาะระยะครรภ์ช่วงเดือนแรก
- แคลเซียม สร้างความเจริญเติบโตและการพัฒนาการสร้างกระดูกในครรภ์มารดา อาหารที่มีแคลเซียมมากได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ปลาเล็กปลาน้อย
ข้อแนะนำในการเลือกรับประทานอาหาร
- เนื้อสัตว์ต่างๆ หญิงมีครรภ์ควรได้รับเนื้อสัตว์ให้เพียงพอทุกวันจะเป็นเนื้อสัตว์ชนิดใดก็ได้แต่ไม่ควรติดหนัง
- ไข่เป็ดหรือไข่ไก่ ควรรับประทานทุกวัน ประมาณวันละ 1 ฟอง นอกจากจะมีโปรตีนมากแล้วยังมีธาตุเหล็กและวิตามินเอ มากอีกด้วย
- นมสด มีโปรตีนสูงและมีแคลเซียมที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ดี ถ้าไม่สามารถดื่มนมได้อาจจะดื่มนมถั่วเหลืองแทนแต่ควรรับประทานเนื้อสัตว์ ไข่ หรือถั่วเมล็ดแห้งให้มากขึ้น
- ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ ฯลฯ ซึ่งควรรับประทานสลับกับเนื้อสัตว์และรับประทานเป็นประจำ
- ข้าวและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ถ้าหากรับประทานเป็นข้าวซ้อมมือจะทำให้ได้วิตามินบี1 และกากใยเพิ่มขึ้นซึ่งช่วยป้องกันอาการเหน็บชาและลดอาการท้องผูกได้
- ผักและผลไม้ต่าง ๆ ควรรับประทานให้หลากหลายตามฤดูกาล รับประทานผลไม้หลังอาหารทุกมื้อและรับประทานเป็นอาหารว่างทุกวัน ผักและผลไม้เป็นแหล่งอาหารที่ให้วิตามิน เกลือแร่ และกากใยที่ดีมาก นอกจากนี้ยังช่วยให้ระบบขับถ่ายสะดวกขึ้นและช่วยไม่ให้ท้องผูก
- ไขมันหรือน้ำมัน ควรเลือกน้ำมันที่ได้จากพืชเพราะไม่มีโคเลสเตอรอลและยังมีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น น้ำมันถั่วเหลือง ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ
ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวของหญิงมีครรภ์
- รับประทานให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และไขมัน ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายทุกวัน และงดอาหารหมักดอง
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม ประเภทแอลกอฮอล์ ยาดอง เหล้า ทุกชนิด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแ
- งดอาหารรสจัด เช่น หวานจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ทำงานหนักเกินไป
- ออกกำลังกายพอประมาณ
- กินยาบำรุงตามแพทย์สั่ง สำหรับยาอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
- เมื่อมีอาการผิดปกติใดๆ ควรปรึกษาแพทย์ทันที
- งดการสูบหรี่
ตัวอย่างรายการอาหาร 1 วัน
อาหารเช้า
1) ข้าวต้มไก่ ได้แก่ ข้าวสวย 1 ทัพพี , ไก่เนื้อ 4 ช้อนคาว , แครอท /ตำลึง 1 ทัพพี, น้ำมันพืช 1 ช้อนคาว
2) นมสด 1 แก้ว
3) เงาะ 6 ผลกลาง รวมพลังงาน 470 กิโลแคลอรี
อาหารว่างเช้า
1) น้ำฝรั่ง 180 กิโลแคลอรี
2) แตงโม 10 ชิ้นคำ รวมพลังงาน 120 กิโลแคลอรี
อาหารกลางวัน
1) ข้าวสวย 3 ทัพพี
2) แกงจืดผักกาดขาว ได้แก่ ผักกาดขาว 1 ทัพพี ,หมูไม่ติดมัน 2 ช้อนคาว
3) ผัดฟักทอง ได้แก่ ฟักทอง 1 ทัพพี , ไข่ไก่ 1 ฟอง , น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
4) ปลาไส้ตันทอด ได้แก่ ปลาไส้ตัน 2 ช้อนคาว , น้ำมันพืช 1 ช้อนชา
5) ส้มเขียวหวาน 1 ผลขนาดกลาง รวมพลังงาน 617.5 กิโลแคลอรี
อาหารว่างบ่าย
1) นมสด 1 ถ้วยตวง
2) แซนวิชไก่ ได้แก่ ขนมปัง 1 แผ่น ,ไก่ 4 ช้อนคาว ,เนยสด ½ ก้อนเล็ก ,ผักกาดเขียว , มะเขือเทศ รวมพลังงาน 385 กิโลแคลอรี
อาหารเย็น
1) ข้าวสวย 3 ทัพพี
2) ต้มยำกุ้ง ได้แก่ กุ้ง 12 ตัว ,เห็ดฟาง ½ ถ้วยตวง
3) ผัดผักกวางตุ้ง ได้แก่ ผักกวางตุ้ง ½ ถ้วยตวง ,น้ำมันพืช 1 ½ ช้อนชา
4) ปลากระพงนึ่งบ๊วย ได้แก่ ปลากระพงนึ่ง 3 ช้อนคาว ,ขิง บ๊วย ตามต้องการ
5) ฝรั่ง ½ ผลกลาง รวมพลังงาน 557.5 กิโลแคลอรี
ก่อนนอน นมสด 1 แก้ว รวมพลังงาน 150 กิโลแคลอรี
รวมพลังงานทั้งวัน 2,300 กิโลแคลอรี