การดูแลจิตใจระหว่างตั้งครรภ์ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

การดูแลจิตใจระหว่างตั้งครรภ์

Date : 21 May 2024

ข้อมูลจาก : สถานีใจ Mind Station
ภาพจาก : pixabay.com

การตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ คือการรู้จักดูแลตนเองและลูกน้อยในครรภ์นับตั้งแต่วินาทีแรกที่รู้ว่ามีชีวิตน้อยๆ มาเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายของเรา เพื่อเตรียมตัวเป็นคุณแม่ที่มีสุขภาพดีและให้กำเนิด    ลูกน้อยที่สมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งคงไม่มีคุณแม่ท่านใดปฏิเสธว่านี่เป็นความใฝ่ฝันตั้งใจของผู้เป็นแม่ทุกคน  การเตรียมตัวเตรียมใจรับกับภาวะความเป็นแม่จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียวสำหรับผู้หญิงอย่างเราๆ เพราะถ้าเราให้กำเนิดเด็กที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงก็เท่ากับเป็นก้าวแรกในการสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพในอนาคตทีเดียวค่ะ

การตั้งครรภ์นอกจากจะนำมาซึ่งความยินดีให้กับครอบครัวแล้ว ในขณะเดียวกัน    การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจและสังคมที่เกิดขึ้นย่อมก่อให้เกิดปัญหาทางด้านจิตใจให้กับหญิงตั้งครรภ์ได้ ซึ่งสาเหตุนั้นอาจมาจากหลายประการ เช่น วิตกกังวลเรื่องรูปร่างที่เปลี่ยนไปของตนเอง เรื่องการทำงาน เรื่องลูกในครรภ์ว่าจะสมบูรณ์แข็งแรงหรือเปล่า เป็นต้น ซึ่งควรระมัดระวังอารมณ์และจิตใจของคุณแม่ในช่วงนี้เป็นพิเศษ ในขณะตั้งครรภ์นั้น การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และจิตใจของ     คุณแม่นั้นสำคัญมาก แต่จะเปลี่ยนแปลงมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสภาพของคุณแม่แต่ละคน สำหรับคนที่มีความสุขในชีวิตแต่งงาน ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีและอบอุ่น พร้อมที่จะมีลูก ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจน้อย และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีค่ะ

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และจิตใจนี้มีผลต่ออารมณ์และนิสัยใจคอของลูกน้อยในท้องด้วย แม่ที่โกรธง่าย อารมณ์ฉุนเฉียวบ่อยๆ ลูกที่เกิดมาอาจจะงอแง เลี้ยงยาก ขี้โมโหเป็นต้น ซึ่งในคู่มือการดูแลจิตใจตนเองสำหรับสตรีตั้งครรภ์และหลังคลอด ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้ให้คำแนะนำในการดูแลจิตใจระหว่างตั้งครรภ์ไว้ดังนี้

เทคนิคการดูแลจิตใจระหว่างตั้งครรภ์
- คุณแม่ที่อารมณ์ดีในขณะตั้งครรภ์ จะส่งผลให้ลูกมีอารมณ์ดี เลี้ยงง่ายโตไว ไม่เจ็บป่วยง่าย
- ระหว่างตั้งครรภ์คุณพ่อคุณแม่ควรสัมผัสครรภ์ พูดคุยกับลูกในครรภ์สม่ำเสมอ มีงานวิจัยพบว่า การอ่านหนังสือ เปิดดนตรี การสัมผัสและคุยกับลูกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสและสร้างวงจรในสมองของลูกตั้งแต่เริ่มต้น จะทำให้ลูกมีพัฒนาการทางภาษารวดเร็วตั้งแต่แรกคลอด สามารถพูดและเดินได้เร็วกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการกระตุ้น  นอกจากนั้นทารกจะสงบ สนใจสิ่งแวดล้อมภายนอก และมีความสุข
- คุณแม่ควรนอนหลับให้เพียงพอ พักผ่อนหย่อนใจด้วยการทำในสิ่งที่ชอบและสนใจ
- คุณแม่ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง และร่างกายเกิดการหลั่งสารสุขที่ช่วยลดความวิตกกังวลและความเครียด

การเตรียมตัว
- คุณพ่อคุณแม่ควรหาความรู้และเตรียมการเพื่อเลี้ยงดูลูกน้อย ทั้งเรื่องอาหาร อุปกรณ์ใช้สอย การทำความสะอาด การดูแลหากเจ็บป่วย เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของลูกแต่ละช่วงวัย โดยแหล่งความรู้อาจได้แก่ นิตยสาร หนังสือ อาสาสมัครสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
- เตรียมคนเลี้ยงดูลูก จะช่วยกันเลี้ยงหรือขอให้ปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้องมาช่วย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรสละเวลามาดูแลลูกเพื่อลูกจะได้รับความรักความอบอุ่น ความผูกพันจากพ่อแม่

ข้อพึงระวัง
- ควรงดการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ยาเสพติด เพราะถ้าแม่เมาสุรา ลูกก็จะเมาด้วย และถ้าแม่หรือพ่อสูบบุหรี่ลูกก็จะได้รับควันพิษไปด้วย ทำให้ลูกมีสุขภาพไม่แข็งแรง อาจเกิดมาพิการทั้งทางร่างกายและสมองได้
- ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดๆ จะทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี อาจทำให้ลูกไม่แข็งแรง
- การใส่รองเท้าส้นสูง อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เป็นอันตรายทั้งต่อแม่และลูก
- การยกของหนักหรือออกแรงมากๆ อาจทำให้มีเลือดออก แท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้
- สำหรับสตรีที่ประกอบอาชีพที่ต้องอยู่ในอิริยาบถเดียวนานๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เพื่อลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และช่วยให้เลือดลมเดินสะดวก

หากปฏิบัติได้เช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่คงจะพอสบายใจและคลายความกังวลในการดูแลตนเองและลูกน้อยในระหว่างตั้งครรภ์ได้บ้างแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่เพียงแต่คุณแม่เท่านั้นที่จะมีบทบาทในการดูแลตนเองและลูกน้อย แต่คุณพ่อก็สามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มความรู้สึกกังวลได้เช่นกันค่ะ