ทุเรียนเทศ : สมุนไพรพิชิตมะเร็งร้าย จริงหรือ? | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

ทุเรียนเทศ : สมุนไพรพิชิตมะเร็งร้าย จริงหรือ?

Date : 14 June 2024

ข้อมูลจาก : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ภาพจาก : pixabay.com

ทุเรียนเทศ เป็นพืชสมุนไพรที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากสรรพคุณที่อ้างว่ามีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีกว่ายาเคมีบำบัด จึงขอนำข้อมูลและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพืชชนิดนี้มาให้รู้จักกัน

ทุเรียนเทศ (Annona muricata L.) เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กสูงประมาณ 5-6 เมตร อยู่ในวงศ์ Annoancaeae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับน้อยหน่า ถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาเขตร้อน ทางภาคใต้ของไทยเรียก ทุเรียนน้ำ ภาคกลางเรียก ทุเรียนแขก ผลมีสีเขียวรูปกลมรี มีหนามนิ่มที่เปลือก รสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย ภาคใต้นิยมนำผลอ่อนมาทำแกงส้ม เชื่อม และคั้นทำเครื่องดื่ม เมล็ดใช้เบื่อปลาและเป็นยาฆ่าแมลงได้ ส่วนใบมีสรรพคุณทางยาใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้ไอ ปวดตามข้อ และความดันโลหิตสูง

จากรายงานการวิจัยของต่างประเทศ พบว่า สารสกัดจากใบทุเรียนเทศมีฤทธิ์ระงับปวด ต้านการอักเสบ  ลดน้ำตาลและไขมันในเลือดสัตว์ทดลองที่เป็นเบาหวานได้ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี มีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งหลายชนิดได้ดีโดยไม่ทำอันตรายต่อเซลล์ปกติ เช่น เซลล์มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งผิวหนัง มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับอ่อน ต่อมลูกหมาก มีผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สารสกัดใบทุเรียนเทศแสดงความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเต้านมและมะเร็งผิวหนังคน โดยมีค่า IC50 = 29.2 และ 30.1 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ ในขณะที่มีค่า IC50 ต่อเซลล์ปกติเท่ากับ 52.4 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งบ่งชี้ถึงความแตกต่างในความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติอย่างชัดเจน

จากการเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งผิวหนังในสัตว์ทดลอง พบว่า สารสกัดด้วยเอทานอลของใบทุเรียนเทศยับยั้งการเจริญของก้อนเนื้องอกผิวหนังชนิด papilloma ในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสารก่อมะเร็งได้ถึง 100% นอกจากนี้ ยังมีรายงานการให้สารสกัดทุเรียนเทศทางปากแก่หนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งตับอ่อน พบว่า กลุ่มที่ได้รับสารสกัดทุเรียนเทศขนาด 50 และ 100 มก./กก. เป็นเวลา 35 วัน มีการเจริญเติบโตของมะเร็งตับอ่อนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยสารสกัดขนาดต่ำยับยั้งได้ดีกว่าขนาด 100 มก./กก สารสกัดยังสามารถลดอุบัติการณ์การแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ได้แก่ ตับ ต่อมน้ำเหลืองและรังไข่ ได้อย่างมีนัยสำคัญ  จากการแยกสารสำคัญที่มีผลต่อเซลล์มะเร็งพบว่า คือสารกลุ่ม annonaceous acetogenins 

อย่างไรก็ตามมีข้อมูลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าสาร annocacin ที่มีอยู่ในพืชชนิดนี้มีพิษต่อเซลล์ประสาทเพาะเลี้ยงชนิดโดปามิเนอร์จิก และเมื่อให้สารแอนโนนาซินเข้าหลอดเลือดดำและเข้าสู่สมองของหนูแรท พบว่า หนูมีความผิดปกติของเซลล์สมองที่ basal ganglia และก้านสมอง และมีการลดลงของจำนวนเซลล์ประสาทชนิดโดปามิเนอร์จิกในบริเวณ substantia nigra ร่วมกับการเพิ่มขึ้นของเซลล์ค้ำจุน ซึ่งลักษณะของรอยโรคที่พบในสมองสัตว์ทดลอง คล้ายคลึงกับในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ส่วนผลการศึกษาความเป็นพิษในสัตว์ทดลองโดยนักวิจัยประเทศกานา พบว่า เมื่อให้สารสกัดใบทุเรียนเทศขนาด 100, 1,000 และ 2500 มก./น้ำหนักตัวหนู 1 กก. ทางปากทุกวัน เป็นเวลา 14 วัน พบว่า หนูที่ได้รับสารสกัดขนาด 2500 มก./กก. มีผลต่อการทำงานของไต

ดังนั้นการนำสมุนไพรทุเรียนเทศมาใช้บำบัดโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ยังต้องผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยต่างๆ อีกมาก ซึ่งสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะรวบรวมวัตถุดิบใบทุเรียนเทศในประเทศไทย มาศึกษาความเป็นพิษเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นข้อมูลคุ้มครองผู้บริโภคในอันดับแรก และวางแผนศึกษาวิจัยเพื่อหาทางนำมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจังต่อไป