กินถูกหลักป้องกันพยาธิได้ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

กินถูกหลักป้องกันพยาธิได้

Date : 23 June 2017

ข้อมูลจาก : รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงดาราวรรณ วนะชิวนาวิน ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาพจาก : pixabay.com

การกินอาหารบางอย่างหรือการดื่มน้ำที่ไม่สะอาดอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิได้ พยาธิบางชนิดอาศัยในเนื้อสัตว์ที่เรานำมาปรุงอาหาร พยาธิบางชนิดอาจปนเปื้อนมากับอาหารหรือน้ำดื่ม  การกินอาหารและดื่มน้ำที่สะอาดและถูกหลักอนามัยสามารถป้องกันการเกิดโรคจากพยาธิได้ค่ะ พยาธิชนิดต่างๆ ที่อาจก่อโรคในคนโดยการกินอาหารที่ปรุงไม่สุกหรือกินอาหารและดื่มน้ำที่มีพยาธิปนเปื้อน มีดังนี้ค่ะ

พยาธิใบไม้ตับ
พยาธิใบไม้ตับ เป็นพยาธิชนิดหนึ่งที่พบมากในประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรคพยาธิใบไม้ตับมีสาเหตุจากการกินอาหารที่ทำจากปลาน้ำจืดที่มีเกล็ด โดยไม่ได้ทำให้สุกเสียก่อน อาหารเหล่านั้น ได้แก่ ก้อยปลา ลาบปลา ส้มปลา ปลาร้าดิบ เป็นต้น
ผู้ที่เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับจะมีอาการจุกแน่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง เบื่ออาหาร ผอมลง ต่อมาจะมีอาการเหลือง ตับโต พยาธิตัวเต็มวัยที่อาศัยที่ท่อน้ำดีในตับ ทำให้ท่อน้ำดีอักเสบ  เป็นมะเร็งของท่อน้ำดี และอาจเสียชีวิตได้
 
พยาธิตัวตืด
โรคพยาธิตัวตืด ติดต่อโดยการกินเนื้อหมู วัว ควาย ที่มีเม็ดสาคู ซึ่งเป็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด โดยไม่ปรุงอาหารให้สุกก่อนหรือปรุงสุกๆ ดิบๆ  เช่น ก้อย ลาบ ลู่ ยำ พล่า แหนม ทำให้เกิดอาการท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระบ่อย หรือน้ำหนักลดได้ นอกจากนี้การกินผักสดที่ล้างไม่สะอาดและมีไข่พยาธิตืดหมูปนเปื้อน ตัวอ่อนของพยาธิที่ฟักออกจากไข่จะเป็นซีสต์เข้าไปอยู่ตามกล้ามเนื้อ ผิวหนัง ตา และสมอง
อันตรายที่เกิดจากพยาธิตัวตืดระยะตัวเต็มวัย ได้แก่ การขาดสารอาหารเนื่องจากพยาธิแย่งอาหาร เกิดลำไส้อุดตัน พยาธิไชทะลุลำไส้ทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ถ้ามีตัวอ่อนของพยาธิตัวตืดหมูอยู่ในกล้ามเนื้อ จะทำให้ปวดเมื่อย พยาธิตัวอ่อนที่เข้าไปในตาหรือสมอง ทำให้ตาบอด หรือเกิดอาการทางสมอง เช่น ปวดศีรษะ ชัก เป็นอัมพาต และเสียชีวิตได้

พยาธิไส้เดือน
โรคพยาธิไส้เดือน เกิดจากการกินผักผลไม้ที่ล้างไม่สะอาดหรือกินอาหารที่มีไข่พยาธิปนเปื้อน เด็กที่ชอบเล่นกับพื้นดินและหยิบของที่ตกบนพื้นดินเข้าปาก หรือไม่ล้างมือก่อนกินหรือปรุงอาหาร   ทำให้ไข่พยาธิเข้าสู่ร่างกายได้ ตัวอ่อนของพยาธิจะออกจากไข่ที่ลำไส้เล็กแล้วไชเข้าสู่กระแสเลือด  ผ่านตับ หัวใจ ปอด หลอดลม แล้วจะไปเจริญเป็นตัวเต็มวัยอาศัยในลำไส้เล็กและแย่งอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดท้องบ่อยๆ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นลมพิษ ร่างกายซูบผอม พุงโร เด็กที่เป็นโรคนี้จะเจริญเติบโตช้า และเบื่อหน่ายการเรียน

พยาธิแส้ม้า
คนที่เป็นโรคพยาธิแส้ม้า โดยการกินอาหารที่ไม่สะอาด มีแมลงวันตอม หรือรับประทานผักดิบหรือผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด เด็กที่หยิบของที่ตกบนพื้นดินเข้าปาก ทำให้ไข่พยาธิเข้าสู่ร่างกายได้
ผู้เป็นโรคพยาธิแส้ม้าจะมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเดิน อุจจาระเป็นมูกเลือด อันตรายที่เกิดจากพยาธิแส้ม้า ทำให้เกิดลำไส้อักเสบเป็นแผล อาจทำให้ไส้ติ่งอักเสบหรือทำให้ลำไส้ส่วนปลายโผล่ออกมาทางทวารหนัก

พยาธิหอยโข่ง
โรคพยาธิหอยโข่งเกิดจากการกินอาหารที่ปรุงไม่สุกและมีตัวอ่อนของพยาธิ Angiostrongylus cantonensis ซึ่งเป็นพยาธิตัวกลมอาศัยในหอยโข่ง หอยขม หอยปัง หอยทากยักษ์อาฟริกัน ปู กุ้งน้ำจืด กบ และตะกวด


แหล่งแพร่โรคที่สำคัญ คือ หนู พยาธิตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในปอดหนู และแพร่ตัวอ่อนออกมาในมูลหนู ตัวอ่อนของพยาธิจะไชเข้าไปอยู่ในหอย หรือหอยกินมูลหนูที่มีพยาธิระยะตัวอ่อน หลังจากการกินอาหารที่ปรุงไม่สุก ประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน จะมีอาการปวดศีรษะอย่างเฉียบพลันบริเวณขมับ หน้าผากและท้ายทอย ปวดตลอดเวลาและปวดมากในตอนกลางคืน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดคอ คอแข็ง และกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตของใบหน้าร่วมด้วย ในรายที่มีอาการรุนแรงจะเจ็บปวดที่ผิวหนังเวลาถูกสัมผัส มีไข้ ตามัวหรือเห็นภาพซ้อน คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ

การรักษาโรคพยาธิหอยโข่งเป็นการรักษาตามอาการ ไม่มียารักษาเฉพาะ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารประเภทหอย ปู กุ้งน้ำจืด กบ ที่ปรุงไม่สุก ควรกินอาหารหรือผักที่ล้างสะอาด ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนให้นานพอ เพื่อฆ่าตัวอ่อนของพยาธิที่อยู่ในเนื้อสัตว์

พยาธิตัวจี๊ด
โรคพยาธิตัวจี๊ดติดต่อโดยการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก เช่น ปลา ไก่ กบ เป็นต้น ตัวอ่อนของพยาธิที่อยู่ในเนื้อสัตว์เหล่านี้จะไชผ่านกระเพาะอาหารเข้าสู่กระแสเลือดไปยังตับและไปสู่อวัยวะหรือเนื้อเยื่ออื่นๆ ของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อ ผิวหนัง ปอด ตา สมอง เป็นต้น

อันตรายที่เกิดจากพยาธิตัวจี๊ด เกิดจากการเคลื่อนย้ายของพยาธิตัวจี๊ดในร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบ บวมและปวด หรือมีเลือดออกของอวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่พยาธิเคลื่อนที่ไป พยาธิที่เคลื่อนย้ายไปตามผิวหนัง ทำให้เกิดอาการบวมเคลื่อนที่ พยาธิอาจไชเข้าตาทำให้ตาบอด หรือไชเข้าสมองทำให้สมองอักเสบและเลือดออกในสมอง เป็นอัมพาต และเสียชีวิตได้
การป้องกันโรคพยาธิตัวจี๊ด โดยการรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกแล้ว