ข้อมูลจาก : คุณทิพเนตร งามกาละ ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง (APN) สาขาอายุรศาสตร์- ศัลยศาสตร์ ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รายการ Rama Square ช่วง นัดกับ NURSE “อัลไซเมอร์” อาการป่วยที่คนรอบข้างควรใส่ใจ วันที่ 10 เมษายน 60
ภาพจาก : pixabay.com
เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีข่าววัยรุ่นเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่กำลังโดนลูกสาวตีด้วยไม้กวาดอย่างทารุณ กลายเป็นประเด็นร้อนที่หลายคนวิพากย์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงการกระทำดังกล่าวที่ค่อนข้างรุนแรงและไม่เป็นผลดีนักกับผู้ป่วย ครั้งนี้เราจึงขออาสามาให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคนี้ด้วยวิธีการที่ดีกว่า และเป็นผลดีกับทั้งสองฝ่ายระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล
ก่อนอื่นคงต้องมาทำความเข้าใจกันอีกครั้งถึงอาการของโรคอัลไซเมอร์ ที่ผู้ป่วยจะมีความเสื่อมในเรื่องของความจำ การรับรู้ ความคิด จินตนาการ และการตัดสินใจ โดยอาการของโรคจะค่อยเป็นค่อยไป และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนช่วยหลือตัวเองไม่ได้และเสียชีวิตในที่สุด
สาเหตุของโรคนั้นมีอยู่หลายประการ ได้แก่ พันธุกรรม อายุที่เพิ่มขึ้น ประวัติคนในครอบครัวที่เคยเป็นโรคนี้ หรือการได้รับอุบัติเหตุทางสมองทำให้สมองได้รับบาดเจ็บ ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคด้วยเช่นกัน รวมถึงผู้ที่มีปัญหาเรื่องหลอดเลือด เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง และการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี 1, วิตามินบี 12 เป็นต้น
ระยะของโรคอัลไซเมอร์
1.ระยะก่อนสมองเสื่อม – ผู้ป่วยมีความบกพร่องทางการเรียนรู้เล็กน้อย มีปัญหาในการจดจำข้อมูลใหม่ ไม่สามารถรับข้อมูลใหม่ได้ แต่ยังสามารถดำเนินชวิตประจำวันได้ปกติ
2.สมองเสื่อมระยะแรก – สูญเสียความจำในระยะสั้น ความจำใหม่หรือความจำที่เพิ่งเรียนรู้มา ใช้เวลาในการทำกิจวัตรประจำวันนานกว่าเดิม
3.สมองเสื่อมระยะปานกลาง – ลืมและสับสนมากขึ้น ทำกิจกรรมเดิมซ้ำๆ การพูดและการใช้ภาษาจะบกพร่องชัดเจน
4.สมองเสื่อมระยะสุดท้าย – สูญเสียความทรงจำในระยะสั้นและยาว การใช้ภาษาลดลงอย่างมาก การทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ จะลดลง ต้องมีผู้ดูแลตลอดเวลา
โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ทางการแพทย์จะมียาที่ช่วยควบคุมอาการป่วยไม่ให้แย่ลง นอกจากนี้คนรอบข้างหรือคนในครอบครัวคือส่วนสำคัญที่สุด ที่จะช่วยรักษาผู้ป่วยให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข หลักการดูแลรักษาอัลไซเมอร์มี 4 บ ได้แก่
- บอกเล่า คือบอกให้ผู้ป่วยทราบว่าจะทำหรือให้ทำอะไร ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล
- เบี่ยงเบน คือหลีกเลี่ยงการโต้เถียง และไม่ต้องชี้แจงเหตุผล พยายามดึงจุดสนใจไปสู่กิจกรรมที่คุ้นเคยและรื่นรมย์
- บอกซ้ำ คือเล่าให้ฟังว่าจะทำอะไรต่อไปด้วยท่าทีและน้ำเสียงเป็นมิตร ถ้าผู้ป่วยหงุดหงิดหรือทำไม่ได้ก็ต้องหยุด
- แบ่งเบา/บำบัด คือสิ่งแวดล้อมต้องสงบ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่มากเกินไป และดำเนินกิจวัตรประจำวันอย่างเป็นระเบียบ
ที่สำคัญที่สุดในหลักการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็คือ “ความเข้าใจ” คนในครอบครัวหรือผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจว่าผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานจากผู้ดูแลอย่างแท้จริง และคนไข้ไม่ได้แกล้งทำ ผู้ดูแลต้องทำใจยอมรับ อดทน และไม่ทอดทิ้ง ดูแลด้วยความรักความเข้าใจ พยายามให้กำลังใจผู้ป่วย และผู้ดูแลเองก็ต้องรู้ขีดจำกัดของตัวเอง เพราะการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ อาจก่อให้เกิดความเครียดหรือปัญหาด้านอารมณ์ หากผู้ดูแลรู้สึกเหนื่อยควรหยุดพักและให้ผู้อื่นมาดูแลแทน