จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นนอนกรนอันตราย และควรมารับการรักษา | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นนอนกรนอันตราย และควรมารับการรักษา

Date : 20 July 2017

รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
 
นอนกรน  มี 2 ประเภท คือ
1) นอนกรนธรรมดา (ไม่อันตรายเพราะไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย) จะมีผลกระทบต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะกับคู่นอน  เสียงกรนทำให้นอนหลับยาก ผู้ป่วยมักไม่เดือดร้อน  แต่อาจมีปัญหาในการเข้าสังคมร่วมกับผู้อื่นได้

2) นอนกรนอันตราย (มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย) นอกจากจะมีผลกระทบต่อคนรอบข้างแล้ว  ถ้าไม่รักษา อาจมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน ทำให้เรียนหรือทำงานได้ไม่เต็มที่  ถ้าต้องขับรถอาจเกิดอุบัติเหตุในท้องถนนได้   นอกจากนั้นจะมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่นๆ ได้ เช่นโรคความดันโลหิตสูง, โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด, ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคความดันโลหิตในปอดสูง, โรคหลอดเลือดในสมอง

ดังนั้นเมื่อท่านมีอาการดังต่อไปนี้ อาจบ่งบอกถึงการมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือเป็นนอนกรนอันตราย  ควรมารับการรักษาโดยแพทย์

  • ตื่นนอนตอนเช้าด้วยความอ่อนล้า ไม่สดชื่น หรือมีอาการปวดมึนศีรษะ  ต้องการนอนต่ออีก เป็นประจำ รู้สึกว่านอนหลับไม่เต็มอิ่ม มีความรู้สึกเหมือนว่าไม่ได้หลับนอนมาทั้งคืน ทั้งๆ ที่ได้นอนพักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว  
  • มีอาการง่วงนอนในเวลาทำงานกลางวัน จนไม่สามารถจะทำงานต่อได้ หรือมีอาการเผลอหลับในขณะทำงาน, เข้าห้องเรียน, เข้าฟังประชุม, ขณะขับขี่รถ หรือขณะอ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ โทรทัศน์ ทั้งๆ ที่ได้นอนพักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว
  • นอนหลับไม่ราบรื่น ฝันร้าย หรือละเมอขณะหลับ นอนกระสับกระส่ายมาก   เหงื่อออกผิดปกติขณะหลับ
  • คนรอบข้างสังเกตว่ามีช่วงหยุดหายใจ (witnessed apnea) หรือหายใจไม่สม่ำเสมอ
  • มีอาการหายใจขัด หรือหายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับ อาจมีอาการคล้ายสำลักน้ำลาย
  • มีอาการสะดุ้งตื่น ผวา  พลิกตัว หรือ หายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ
  • ในเด็กอาจมีท่านอนที่ผิดปกติ เช่น ชอบนอนตะแคง หรือ นอนคว่ำ หรือ อาจไม่มีสมาธิทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้นาน (attention deficit disorder) หงุดหงิดง่าย หรือมีกิจกรรมต่างๆ ทำตลอด

เวลา  (hyperactivity) หรือมีปัสสาวะราดในเวลากลางคืน (enuresis)

  • มีความดันโลหิตสูงซึ่งยังหาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน
  • ประสิทธิภาพในการทำงาน หรือผลการเรียนแย่ลง เพราะอาการง่วง, ขาดสมาธิ    พัฒนาการทางสมองและสติปัญญา รวมทั้งความจำแย่ลง
  • อาจมาด้วยอาการที่ไม่ชัดเจน เช่น อ่อนเพลีย  มีอาการซึมเศร้า  มีสมรรถภาพทางเพศด้อยลง  หงุดหงิด หรือมีอารมณ์เสียง่าย

เมื่อแพทย์สงสัยว่าท่านอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรืออาจเป็นนอนกรนอันตราย  นอกเหนือจากการซักประวัติ และตรวจร่างกายแล้ว แพทย์อาจส่งท่าน ตรวจการนอนหลับ (polysomnography) เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรค (แยกว่าท่านเป็น กรนธรรมดา หรือกรนอันตราย  มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่) และถ้าท่านเป็นนอนกรนอันตราย  การตรวจการนอนหลับจะบอกความรุนแรงของโรคได้ ว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากหรือน้อยเพียงใด และช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาท่านได้ดีขึ้น

การตรวจการนอนหลับ เป็นการวัด

  • คลื่นไฟฟ้าสมอง, ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวของลูกตา (บอกความตื้นลึก หรือ ระยะของการนอนหลับ และแยกจากภาวะตื่น)
  • ลมหายใจผ่านเข้าออกทางจมูก และปาก และการเคลื่อนไหวของทรวงอก และท้อง (ช่วยแยกระหว่างการหายใจที่ปกติ และการหยุดหายใจ รวมทั้งบอกชนิดของการหยุดหายใจ)
  • ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด (บอกความรุนแรงของการลดลงของปริมาณออกซิเจนในเลือด)  
  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (บอกว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ในช่วงหยุดหายใจ หรือขณะนอนหลับ)

โดยผู้ป่วยต้องมานอนในห้องปฏิบัติการ (Sleep laboratory) หนึ่งคืน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ (sleep technician) ติดเครื่องวัดดังกล่าวกับตัวผู้ป่วย และคอยดูแลความเป็นไปของผู้ป่วยตลอดคืน