รับมือ...ไบโพลาร์ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

รับมือ...ไบโพลาร์

Date : 2 August 2017

ข้อมูลจาก :  ผศ.พญ.สุทธิพร  เจณณวาสิน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาพจาก : pixabay.com

โลกเราทุกวันนี้  มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำให้คนเราเกิดความเครียดได้ง่าย และนำมาซึ่งโรคต่างๆ ทางจิตเวช อย่างเช่น โรควิตกกังวล ซึมเศร้า ซึ่งพวกเราอาจพอคุ้นหูกันมาบ้างแล้ว ไม่เหมือนอย่างโรคไบโพลาร์ ซึ่งแม้จะไม่ได้เกิดจากความเครียดโดยตรง แต่ความเครียดก็เป็นปัจจัยกระตุ้น เหมือนการกินน้ำตาลมากในผู้ป่วยที่มีพันธุกรรมเบาหวาน

ไบโพลาร์ คือโรคที่มีความผิดปกติของอารมณ์เป็น 2 ขั้ว มีทั้งช่วงที่อารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ (mania) และบางช่วงที่อารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติ (depressed) ฉะนั้นเดิมจึงเรียกโรคนี้ว่า manic-depressive disorder แต่บางคนมีอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติอย่างเดียว โดยไม่มีอารมณ์ซึมเศร้าก็ได้

โรคนี้พบได้ในประชากรทั่วไปประมาณร้อยละ 3 ซึ่งนับว่าบ่อยทีเดียว พบได้อัตราเท่ากันทั้งหญิงและชาย โดยมักเริ่มมีอาการในช่วงวัยผู้ใหญ่วัยต้น

ไบโพลาร์เกิดได้อย่างไร
โรคนี้เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง โดยมีสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล และมีปัจจัยทางพันธุกรรมเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้หรือโรคทางจิตเวชอื่น จะมีโอกาสเป็นโรคมากกว่าคนทั่วไป ส่วนสิ่งแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดูในวัยเด็ก หรือความเครียดมักเป็นเพียงปัจจัยเสริม และถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา อาการต่างๆ อาจจะดีขึ้นเองได้ในบางคน แต่ต้องใช้เวลานาน และกว่าอาการจะดีขึ้น  ก็ส่งผลกระทบมากมายทั้งต่อตัวผู้ป่วยและคนรอบข้าง บางคนก่อหนี้สินมากมาย บางคนใช้สารเสพติด บางคนต้องออกจากงานหรือโรงเรียน บางคนทำผิดกฎหมาย และที่รุนแรงที่สุด คือฆ่าตัวตายหรือทำร้ายผู้อื่น และถ้าเป็นหลายๆ ครั้ง อาการครั้งหลังจะเป็นนานและถี่ขึ้น

อาการของโรค มี 2 ช่วง คือ
1.  ช่วงที่อารมณ์ซึมเศร้า
-  มีอาการเบื่อหน่ายท้อแท้  ไม่อยากทำอะไร
-  มองทุกอย่างในแง่ลบ
-  เรี่ยวแรงลดลง
-  มีความคิดอยากตาย ซึ่งมีไม่น้อยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย

2.  ช่วงที่อารมณ์ดีหรือก้าวร้าว
-  เชื่อมั่นในตนเองมาก รู้สึกว่าตนมีความสำคัญหรือมีความสามารถมาก
-  เรี่ยวแรงเพิ่ม นอนน้อยกว่าปกติ โดยไม่มีอาการเพลีย
-  พูดเร็ว พูดมาก หรือพูดไม่ยอมหยุด
-  ความคิดแล่นเร็ว มีหลายความคิดเข้ามาในสมอง
-  สมาธิลดลง เปลี่ยนเรื่องพูดหรือทำอย่างรวดเร็ว  ตอบสนองต่อสิ่งเร้าง่าย ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-  มีกิจกรรมมากผิดปกติ อาจเป็นแผนการหรือลงมือกระทำลงจริงๆ แต่มักทำได้ไม่ดี
-  การตัดสินใจไม่เหมาะสม เช่น ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ทำเรื่องที่เสี่ยงอันตรายหรือผิดกฎหมาย  
-  สำส่อนทางเพศ บางคนจะหงุดหงิดก้าวร้าว จนถึงทะเลาะหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น ในรายที่เป็นมาก อาจมีอาการโรคจิตร่วมด้วย

หลายคนอาจสงสัยว่า ในคนปกติก็ต้องมีการขึ้นลงของอารมณ์มากบ้างน้อยบ้างตามนิสัย แล้วเมื่อไหร่จึงเรียกว่าผิดปกติหรือเป็นโรค  การจะบอกว่าป่วยแน่นอนต้องใช้เกณฑ์การวินิจฉัยจากแพทย์ แต่ทั่วไปเราควรนึกถึงโรคนี้และไปปรึกษาแพทย์เมื่อ
-  การขึ้นลงของอารมณ์มากกว่าคนทั่วไป หรือมากกว่าปกติของคนนั้น เป็นเวลาติดต่อกันนาน 4-7 วัน
-  มีความผิดปกติของการกินการนอนร่วมด้วย
-  กระทบต่อการทำงานหรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

การรักษา
โดยทั่วไป แพทย์จะให้ยาและคำแนะนำเกี่ยวกับโรคและยา รวมถึงการดูแลตนเองในด้านต่างๆ ควบคู่ไปด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากอาการใน 2-8 สัปดาห์ และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนก่อนป่วย แต่ในบางรายอาจต้องให้ทำจิตบำบัดร่วมด้วยเพื่อขจัดความเครียด และลดความขัดแย้งกับคนรอบข้างที่เป็นสาเหตุของความเครียด

เนื่องจากโรคนี้เกิดจากสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล จึงต้องใช้ยาที่จะปรับสารสื่อประสาท ปัจจุบันมียาควบคุมอารมณ์หลายชนิดที่มีประสิทธิภาพ ยาในกลุ่มนี้ไม่ใช่ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับ ไม่ทำให้ติดยาเมื่อใช้ในระยะยาว แต่มักต้องใช้เวลา 2-4 สัปดาห์จึงจะเห็นผล

นอกจากยาควบคุมอารมณ์  แพทย์อาจใช้ยากลุ่มอื่นร่วมด้วยเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีขึ้น ยาทางจิตเวชก็เหมือนกับยาอื่นที่ทุกตัวจะมีผลข้างเคียง แต่อาการและความรุนแรงจะต่างกัน ผลข้างเคียงส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายมาก ผู้ป่วยควรได้พูดคุยกับแพทย์เพื่อเลือกยาที่เหมาะสม และปรึกษาแพทย์ถ้ามีอาการข้างเคียง สำหรับสตรีมีครรภ์และให้นมบุตรควรคุยกับแพทย์ถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย

โรคนี้มีอัตราการเป็นซ้ำสูงมากถึง 90% ฉะนั้นโดยทั่วไปหลังจากหายแล้ว แพทย์มักแนะนำให้กินยาต่ออย่างน้อย 1 ปี เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ หรืออาจนานกว่านี้  ทั้งนี้ขึ้นกับจำนวนครั้งที่เคยเป็นและความรุนแรงในครั้งก่อนๆ ยาไม่ได้ทำให้สมองเสื่อมลงแต่การป่วยซ้ำหลายๆ ครั้งทำให้สมองแย่ลงได้

การปฏิบัติตัว
1.  นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
2.  ดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น ออกกำลังกาย มีกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียด หลีกเลี่ยงสุรา สารเสพติด
3.  กินยาตามแพทย์สั่ง ถ้ามีปัญหาผลข้างเคียงจากยา ควรปรึกษาแพทย์ก่อน ไม่ควรหยุดยาเอง
4.  หมั่นสังเกตอารมณ์ของตน เรียนรู้อาการแรกเริ่มของโรค และรีบไปพบแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก
5.  บอกคนใกล้ชิดถึงอาการเริ่มแรกของโรค ให้ช่วยสังเกตและพาไปพบแพทย์

การช่วยเหลือผู้ป่วย
1.  เข้าใจว่าอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติเป็นการเจ็บป่วย ไม่ใช่นิสัยของผู้ป่วย
2.  ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยกินยา และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์
3.  สังเกตอารมณ์ของผู้ป่วย เรียนรู้อาการเริ่มแรกของโรค และรีบพาไปพบแพทย์ก่อนที่จะมีอาการมาก
4.  ช่วยควบคุมการใช้จ่ายและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่ออันตราย ถ้าเห็นว่าผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการอีก
5.  เมื่อผู้ป่วยหายจากอาการ ให้กำลังใจในการกลับไปเรียนหรือทำงาน และไม่หยุดยาก่อนปรึกษาแพทย์

สรุปว่าโรคนี้รักษาหายได้ และสามารถกลับไปเรียนหรือทำงานได้ตามเดิม เมื่อมีปัญหาด้านสุขภาพจิต  อย่ากลัวหรืออาย หมอทุกคนยินดีให้คำแนะนำและรักษาค่ะ