ข้อมูลจาก : เว็บเพื่อเกษตรไทย
ตำลึงจัดเป็นพืชไม้เลื้อยที่สามารถพบได้ทั่วๆ ไป ชอบขึ้นอยู่ตามหลักเสา หรือริมรั้วบ้าน นิยมนำมาประกอบอาหาร ซึ่งประโยชน์ของตำลึงในแต่ละส่วนมีมากมาย ดังนี้
ส่วนใบ และยอดอ่อน
สามารถนำมาประกอบอาหารรับประทานได้ โดยใบและยอดอ่อนของตำลึง 100 กรัม จะให้พลังงานน้อยมากเพียง 35 กิโลแคลอรีเท่านั้น อีกทั้งยังมีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด อาทิ โปรตีน 4.9 กรัม, แคลเซียม 58.7 มิลลิกรัม , ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 3 มิลลิกรัม, เส้นใย 1 มิลลิกรัม, วิตามินซี 31 มิลลิกรัม วิตามินเอ (วิตามินเอสูงมากถึง 18,608 หน่วยสากล) เบต้าแคโรทีน ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งสรรพคุณจะช่วยต้านอนุมูลอิสระ บำรุงผิวพรรณ ป้องกันโรคมะเร็ง บำรุงสายตา ป้องกันอาการท้องผูก ฯลฯ
นอกจากนี้แล้วในส่วนใบสดยังสามารถนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกหรือทาบริเวณแมลงกัดต่อย ช่วยในการถอนพิษ ลดอาการอักเสบ อาการปวดบวม และผื่นแดงคันได้อีกด้วย
ส่วนราก
สามารถนำมาต้มดื่มได้ ซึ่งจะช่วยลดไข้ แก้อาเจียน แก้โรคเบาหวาน และสามารถนำมาตำเพื่อแก้อาการอักเสบ พอกบริเวณแผล หรือแก้พิษแมลงกัดต่อยได้
ส่วนลำต้น/เถา
ส่วนเถาสามารถนำต้มน้ำรับประทานเพื่อแก้อาการวิงเวียนศีรษะ แก้โรคเบาหวาน และแก้ไข้ทรพิษได้ อีกทั้งยังสามารถนำมาบดคั้นน้ำโดยนำน้ำต้มจากเถามาหยอดตา ซึ่งจะช่วยแก้อาการตาแดง แก้คันตา แก้ตาอักเสบ แก้ตาแฉะ แก้ตาฟกช้ำได้ นอกจากนี้แล้วยังช่วยดับพิษต่างๆ เช่น พิษแมลงกัดต่อยได้
ส่วนดอกและผล
สามารถนำมารับประทานแก้พิษไข้ได้ อีกทั้งยังนำมาตำหรือบดให้ละเอียดใช้ทาผิวหนังแก้อาการผดผื่นคัน และรักษาโรคผิวหนังได้
หมายเหตุ ตำลึงที่นิยมนำมารับประทานจะเป็นตำลึงพันธุ์เพศเมีย ซึ่งจะมีใบสวย ส่วนตำลึงพันธุ์เพศผู้จะไม่นิยมนำมารับประทาน เนื่องจากใบน้อยและแข็งกระด้าง ซึ่งคนธาตุอ่อนถ้ารับประทานตำลึงพันธุ์เพศผู้้เข้าไปแล้วอาจทำให้ท้องเสียได้