ข้อมูลจาก : รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ อดีตอาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพจาก : pixabay.com
ถ้าอยู่ ๆ รู้สึกมีอาการปวดหรือชาปลายมือ แล้วสังเกตได้ชัดเจนว่า เป็นเฉพาะที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางซีกที่อยู่ติดกับนิ้วกลาง ส่วนนิ้วก้อยและนิ้วนางซีกที่อยู่ติดกับนิ้วก้อยไม่มีอาการผิดปกติ ก็ให้นึกถึงอาการโรค "เส้นประสาทมือถูกบีบรัด"
โรคนี้เกิดจากสาเหตุหลายอย่าง ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา และถ้าเป็นรุนแรงก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ก็จะช่วยให้หายได้
สาเหตุสำคัญของโรคเส้นประสาทมือถูกบีบรัด เกิดจากการที่เส้นประสาทมือที่อยู่บริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางซีกที่ติดกับนิ้วกลางถูกบีบรัด ในบางราย เส้นประสาทมือในบริเวณช่องใต้กระดูกข้อมืออาจถูกบีบรัด เนื่อง จากเยื่อหุ้มเอ็นที่อยู่ในช่องใต้กระดูกข้อมือบวม หรือกระดูกข้อมือโตทำให้ช่องใต้กระดูกข้อมือแคบ หรือแผ่นพังผืดเสื่อมและหนาตัวขึ้น ทั้งนี้อาจเกิดจากการบาดเจ็บที่ข้อมือ หรือการใช้ข้อมืออย่างผิด ๆ ซ้ำซาก หรืออาจพบร่วมกับภาวะอื่น ๆ เช่น การตั้งครรภ์ ระยะก่อนมีประจำเดือน เบาหวาน ภาวะขาดไทรอยด์ โรคปวดข้อรูมาตอยด์ ภาวะอ้วน เป็นต้น บางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน เช่นเดียวกับในบางรายอาจพบว่ามีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย
เมื่อเส้นประสาทถูกบีบรัด ก็จะทำให้เกิดอาการปวดหรือชาบริเวณ 3 นิ้วครึ่ง (นับจากหัวแม่โป้ง) หากการบีบรัดเกิดขึ้นชั่วคราว (เช่น การตั้งครรภ์ ระยะก่อนมีประจำเดือน) อาการก็จะเป็นอยู่ชั่วคราว และทุเลาไปได้เองเมื่อภาวะที่เป็นสาเหตุนั้นได้หายไป แต่หากการบีบรัดนั้นเกิดขึ้นอย่างถาวร ก็อาจทำให้เกิดอาการเรื้อรังจนทำลายเส้นประสาทได้
ลักษณะอาการ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนหรือรู้สึกชาเป็นพัก ๆ ที่มือ (โดยเฉพาะที่นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และซีกหนึ่งของนิ้วนางด้านที่ติดกับนิ้วกลาง) บางครั้งอาจปวดร้าวขึ้นไปที่แขนหรือหัวไหล่ อาการปวดมักจะเป็นมากตอนกลางคืนหรือตอนเช้ามืด จนบางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยสะดุ้งตื่น บางรายเมื่อได้ห้อยข้อมือตรงขอบเตียงหรือสะบัดมือจะรู้สึกทุเลาลงได้
การทำงานโดยใช้ข้อมือ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่างอข้อมือมาก ๆ หรือเร็ว ๆ เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน พิมพ์ดีด) งอข้อมือเร็ว ๆ อาจทำให้เกิดอาการปวดหรือชาได้ ถ้าเป็นมาก อาจทำให้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วอื่น ๆ ชาและอ่อนแรงได้ อาการอาจเกิดที่มือข้างเดียว หรือ 2 ข้างก็ได้ ส่วนในรายที่เป็นระหว่างตั้งครรภ์ หลังคลอดอาการมักจะหายไปได้เอง
เมื่อมาพบแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัย ดังนี้ วินิจฉัยจากอาการปวดหรือชาที่บริเวณ 1 นิ้วครึ่ง ได้แก่ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางซีกที่ติดกับนิ้วกลาง วินิจฉัยจากการกดหรือเคาะที่ข้อมือ (ตรงด้านเดียวกับฝ่ามือ) ข้างที่มีอาการ อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหรือชาที่ปลายมือได้ และแพทย์จะวินิจฉัยโดยการทดสอบให้ผู้ป่วยวางหลังมือ 2 ข้างชนกัน ในท่างอข้อมือให้มากที่สุด และนิ้วมือชี้ลงพื้นนาน 60 วินาที ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีอาการปวดหรือชาปลายนิ้วมือ 3 นิ้วครึ่ง ซึ่งทางการแพทย์เรียกการทดสอบนี้ว่า “อาการฟาเลน” และในบางครั้งแพทย์อาจทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography หรือ EMG)
โรคนี้พบได้ค่อนข้างบ่อยในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชายถึง 3 เท่า (เนื่องจากช่องใต้กระดูกข้อมือของผู้หญิงมีลักษณะแคบกว่า) และมักพบในคนอ้วน คนที่เป็นเบาหวาน โรคปวดข้อรูมาตอยด์ ขณะตั้งครรภ์หรือระยะก่อนมีประจำเดือน หรือในคนที่ใช้ข้อมืออย่างผิดๆ