กินปลาเพื่อพัฒนาการที่ดีของทารก | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

กินปลาเพื่อพัฒนาการที่ดีของทารก

Date : 19 September 2017

ข้อมูลจาก : หนังสืออยากสุขภาพดีต้องมี 3 อ.
ภาพจาก : pixabay.com

ปลาที่นิยมกินกันโดยทั่วไป มีปริมาณไขมันอยู่มากน้อยต่างกันแล้วแต่ชนิดของปลาตามธรรมชาติ โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึกจะมีปริมาณไขมันเป็นส่วนประกอบอยู่มากกว่าปลาน้ำจืด เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ต่างๆ ปลาจัดเป็นแหล่งของโปรตีนที่มีไขมันในกลุ่มโอเมก้า-3 เช่น DHA และ EPA ในปริมาณมาก

คุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรกินปลาให้ได้สัปดาห์ละ 2 มื้อ เพื่อให้ร่างกายได้รับกรดไขมันดังกล่าวมากเพียงพอ เพื่อการสร้างและพัฒนาระบบประสาทส่วนกลาง คือ ส่วนสมองและจอประสาทตาของทารกในครรภ์ โดยทั่วไปปลาที่มีแหล่งกำเนิดในมหาสมุทร เช่น ปลาแซลมอน ปลาแม็คเคอเรล และปลาทูน่า มีปริมาณกรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า-3 มากกว่าปลาชิดอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ปลาที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศไทยหลายชนิดก็มักรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า-3 เป็นองค์ประกอบเช่นกัน  ได้แก่ ปลาสวาย ปลาช่อน ปลาดุก ปลาสลิด ปลาตะพียน ปลาจะละเม็ดขาว ปลาจะละเม็ดดำ ปลากะพงขาว เป็นต้น

ข้อควรระวังในการเลือกปลามากิน คือ การได้รับสารปนเปื้อนที่มีในปลาตามธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปลาทะเลจำนวนมากรับสารปนเปื้อนของโลหะหนักจำพวกสารตะกั่วกับสารปรอท สารเคมีประเภทไดออกซิน และพีซีบีที่มีอยู่ในแหล่งน้ำจากทะเลและมหาสมุทร สารเหล่านี้อาจจะสะสมและเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่ทารกอาจได้รับสารปนเปื้อนมากับเนื้อปลาแต่ละชนิด จึงขอแนะนำให้จำกัดปริมาณปลาที่กินอยู่ที่สัปดาห์ละ 2 มื้อ และควรหลีกเลี่ยงการกินปลาฉลามและปลากระทบดาบ เนื่องจากมีข้อมูลระบุว่า ปลาประเภทนี้มีปริมาณสารปรอทปนเปื้อนอยู่สูงกว่าปลาชนิดอื่นๆ