ข้อมูลจาก : ศาสตราจารย์ นายแพทย์วชิร คชการ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ภาพจาก : pixabay.com
มะเร็งต่อมลูกหมากในปัจจุบันได้รับการกล่าวขวัญถึงบ่อยมาก ทั้งนี้เนื่องจากมีอัตราการพบมะเร็งต่อมลูกหมากบ่อยมากขึ้นกว่าเดิม และยังมีการกล่าวถึงในสื่อต่างๆ มากมาย จนอาจเป็นความวิตกกังวลแก่ประชาชนทั่วไปที่ได้รับข่าวสาร แต่หากได้ศึกษาและมีความรู้อย่างถ่องแท้จะทราบว่ามะเร็งต่อมลูกหมากไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพียงแต่ต้องตรวจให้พบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ก่อนที่จะลุกลามหรือมีการกระจาบตัว เพราะผลของการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกนี้ได้ผลดีมากจนพูดได้ว่าหายขาด
อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกนั้นไม่ปรากฏอาการใดๆ หากมีอาการของการขับถ่ายปัสสาวะหรือมีอาการเจ็บปวดแล้วถือได้ว่าเป็นระยะลุกลาม ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกที่ได้รับการรักษาทันท่วงทีจะมาจากการตรวจสุขภาพ ซึ่งแพทย์จะมีวิธีการตรวจคัดกรองเพื่อเสาะหามะเร็งต่อมลูกหมากจนได้รับการวินิจฉัย นำไปสู่การรักษาต่อไป
ใครบ้างสมควรได้รับการตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก
มะเร็งต่อมลูกหมากถึงแม้จะไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากเหตุใด แต่เราพบว่ามีความเกี่ยวพันกับกรรมพันธุ์ อายุ อาหารที่มีไขมันสูงและเชื้อชาติ ดังนั้นผู้ชายที่มีประวัติครอบครัว เช่น ปู่ พ่อ หรือพี่ เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากก็สมควรตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากแต่เนิ่นๆ ในต่างประเทศแนะนำให้ตรวจตั้งแต่อายุ 35 ปี ส่วนผู้ที่ไม่มีประวัติครอบครัวแนะนำให้ตรวจเมื่ออายุ 45 ปี ส่วนในประเทศไทยนั้นยังไม่มีการตกลงกันเป็นที่แน่ชัด จึงอาจจะอาศัยข้อมูลจากต่างประเทศเป็นหลัก จึงมักจะแนะนำว่าชายไทยควรจะตรวจเมื่ออายุ 45 ปี
ตรวจอะไรบ้าง
สิ่งแรกที่แพทย์ให้ความสนใจคือการตรวจเลือดเพื่อตรวจหาสารตัวหนึ่งที่เรียกว่า พี เอส เอ (PSA) ซึ่งเป็นสารที่ผลิตออกมาจากต่อมลูกหมากเพียงอวัยวะเดียว ไม่มีอวัยวะอื่นใดในร่างกายผลิตสารนี้ได้ ค่าปกติโดยทั่วไป คือ 0-4 นาโนกรัมต่อซีซี แต่ผลของการตรวจเลือดไม่ใช่ข้อมูลที่นำไปสู่การวินิจฉัยแต่เพียงอย่างเดียว เพราถึงแม้ผลเลือดจะอยู่ในเกณฑ์ปกติยังมีโอกาสพบมะเร็งซ่อนอยู่ไดถึงร้อยละ 25 และเมื่อผลเลือดสูงเกินค่าปกติก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมะเร็งแต่อย่างใด แพทย์จะต้องตรวจสอบเพิ่มเติมอีก เช่น การตรวจเลือดหาค่าของ free PSA ซึ่งเป็นการตรวจที่จำเพาะมากขึ้น หรือติดตามผลการตรวจเลือดดูอัตราการเพิ่มของ พี เอส เอ เป็นต้น
สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการตรวจทางทวารหนัก แพทย์จะใช้นิ้วสอดเข้าทวารหนักเพื่อคลำดูลักษณะของต่อมลูกหมากที่ชี้บ่งว่าจะมีมะเร็งหรือไม่ หากพบความผิดปกติจะพิจารณาส่งตรวจอัลตร้าซาวด์ หรือตรวจคลื่นแม่เหล็ก แต่อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญที่สุดของการวินิจฉัยคือการนำเอาชิ้นเนื้อของต่อมลูกหมากออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา แพทย์จะใช้อัลตราซาวด์เป็นตัวนำสอดเข็มเล็กๆเข้าไปเพื่อตัดเอาชิ้นเนื้อออกมาตรวจ
ผลของการตรวจ
ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะได้รับรายงานว่ามีมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งจะได้รับการตรวจเพิ่มเติมจัดระยะโรคว่าอยู่ในระยะใด เลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆ ไป แต่หากผลการตรวจชิ้นเนื้อไม่พบมะเร็งต่อมลูกหมากก็จะต้องติดตามตรวจต่อเป็นระยะ เช่น อาจจะตรวจ 1-2 ปีต่อครั้ง หากยังมีข้อสงสัยเช่น ผลเลือดเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วกว่าอัตราปกติ หรือคลำพบความผิดปกติของต่อมลูกหมาก ก็จะต้องตรวจชิ้นเนื้อซ้ำ มีผู้ป่วยหลายรายที่ไม่สามารถตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากในการตรวจครั้งแรก แต่สามารถตรวจพบได้ในการตรวจครั้งถัดไป
การรักษา
เมื่อได้รับการวินิจฉัยและตรวจเพิ่มเติมจัดระยะโรคแล้ว หากพบว่ามะเร็งต่อมลูกหมากยังคงเป็นระยะแรกอยู่ การรักษาเราจะทำเพื่อหวังผลเพื่อให้หายขาด การรักษาประกอบด้วย
ข้อแนะนำ
ดังที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่าการตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากมีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีประวัติครอบครัว หรือผู้ชายทั่วไปที่มีอายุระหว่าง 45-70 ปี หากมีอายุมากจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้พบว่าปัจจุบันผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 70 ปีอาจจะยังมีร่างกายแข็งแรงดีอยู่ ซึ่งสมควรตรวจหามะเร็งระยะแรกเช่นกัน ซึ่งการพบมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกนี้สามารถให้การรักษาจนหายขาดได้ ผู้ชายจึงควรสร้างค่านิยมที่จะตรวจสุขภาพของตนเองให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน