มะเร็งหลอดอาหาร | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

มะเร็งหลอดอาหาร

Date : 26 September 2017

ข้อมูลจาก : พยาบาลหน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ปรึกษา ศาสตราจารย์แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์
ภาพจาก : pixabay.com

มะเร็งหลอดอาหารเป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วง 55-65 ปี โรคเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

สาเหตุของมะเร็งหลอดอาหาร สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแต่จากการศึกษาวิจัยพบปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่

  1. อาจมีความสัมพันธ์กับเชื้อชาติ เพราะอุบัติการณ์จะสูงกว่าในชาวอิหร่าน โซเวียตและจีน
  2. สุรา บุหรี่ เพิ่มปัจจัยเสี่ยง
  3. การบริโภคสารพวกไนโตรโซ (Nitroso compound) หรือไนโตรซามีน (Nitrosamines) ซึ่งมีอยู่ในอาหารบางจำพวกในปริมาณสูงและบริโภคอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร
  4. การรับประทานผัก ผลไม้มากๆ อาจลดปัจจัยเสี่ยง

อาการและอาการแสดงของมะเร็งหลอดอาหาร

ไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งหลอดอาหารแต่จะเป็นอาการคล้ายคลึงกับโรคทั่วๆ ไปของหลอดอาหารที่พบบ่อย ได้แก่

  1. กลืนอาหารไม่สะดวก รู้สึกติด หรือสำลัก
  2. อาจมีเสลดปนเลือด
  3. ไอ สำลัก ขณะรับประทาน
  4. อาจคลำต่อมน้ำเหลืองที่คอได้
  5. ผอมลงเพราะรับประทานไม่ได้หรือได้น้อย

ดังนั้น ถ้ามีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง

การตรวจคัดกรองมะเร็งหลอดอาหาร ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่จะตรวจคัดกรองมะเร็ง หลอดอาหารได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกเป็นโรคแต่อาจลดปัจจัยเสี่ยงลงได้ โดยการ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวได้แล้วได้ตอนต้น

การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคและหาระยะของโรคมะเร็งหลอดอาหาร แพทย์จะตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งหลอดอาหารได้โดย

  1. ซักประวัติ อาการ อาการแสดง การตรวจร่างกาย
  2. ถ้าสงสัยอาจตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ด้วยการกลืนแป้งตรวจหลอดอาหาร ซึ่งเป็นการตรวจทางเอกซเรย์เพื่อดูภาพและพยาธิสภาพของหลอดอาหาร
  3. การส่องกล้องตรวจพยาธิสภาพของหลอดอาหารและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ทางพยาธิวิทยา

เมื่อผลตรวจทางพยาธิวิทยา ระบุว่าเป็นมะเร็งแน่นอนแล้ว แพทย์มักตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินสุขภาพของผู้ป่วยและหาระยะของโรคโดย

  1. ตรวจเลือดดูการทำงานของไขกระดูก ตับ ไต เบาหวาน เป็นต้น
  2. ตรวจปัสสาวะดูการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะ
  3. ตรวจเอกซเรย์ปอดดูการแพร่กระจายของโรค
  4. อาจตรวจภาพอัลตราซาวด์ตับ ถ้าสงสัยว่ามีโรคแพร่กระจายไปตับ
  5. อาจตรวจภาพสแกนกระดูก ถ้าสงสัยว่ามีโรคแพร่กระจายไปกระดูก
  6. ในผู้ป่วยบางราย ถ้ามีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ แพทย์อาจส่งตรวจภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูการลุกลามของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆ ใกล้เคียง หรือดูการแพร่กระจายของต่อมน้ำเหลืองในช่องอกหรือในช่องท้อง

การตรวจเพิ่มเติมต่างๆ ในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกัน ทั้งนี้จะเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

ระยะของโรค  มะเร็งหลอดอาหารแบ่งเป็น 4 ระยะ

ระยะที่ 1    ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กยังอยู่เฉพาะในตัวหลอดอาหารยังไม่ลุกลาม

ระยะที่ 2    ก้อนมะเร็งลุกลามมากขึ้นลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง

ระยะที่ 3    มะเร็งลุกลามทะลุเนื้อเยื่อต่างๆ ของหลอดอาหารและมีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง

ระยะที่ 4    มะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง มีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกล ออกไปหรือกระจายไปอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ หรือกระดูก เป็นต้น

ความรุนแรงของโรคมะเร็งหลอดอาหาร ความรุนแรงของโรคขึ้นกับปัจจัยต่างๆ หลายอย่างที่สำคัญได้แก่

  1. ระยะของโรคระยะที่สูงขึ้น โรคจะรุนแรงมากขึ้น
  2. สภาพร่างกายของผู้ป่วย ถ้าแข็งแรงผลการรักษาจะดีกว่า
  3. โรคร่วมอื่นๆ ที่มีผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย เช่น เบาหวาน ความดัน เป็นต้น ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการรักษาได้
  4. อายุ ในคนสูงอายุ มักจะทนการรักษาได้ไม่ดี

วิธีการรักษา

การรักษามะเร็งหลอดอาหารมีวิธีการหลัก 3 วิธีคือ การผ่าตัด การฉายรังสี และเคมีบำบัด

การผ่าตัด จะเป็นวิธีการรักษาในมะเร็งระยะต้นๆ และเป็นมะเร็งหลอดอาหารในตำแหน่งที่สามารถผ่าตัดได้ โดยผ่าตัดเอาหลอดอาหารส่วนที่เป็นมะเร็งออกไป แต่ในโรคระยะลุกลามจนผู้ป่วยรับประทานทางปากไม่ได้ อาจมีการผ่าตัดเล็กทางกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กเพื่อให้อาหารทางสายยางแทน

รังสีรักษา โดยทั่วไปมักเป็นการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว หรือฉายรังสีร่วมกับเคมีบำบัด หรือฉายรังสี เคมีบำบัด และผ่าตัด ซึ่งจะเป็นไปตามข้อบ่งชี้การแพทย์เป็นรายๆ ไป การฉายรังสีก็เช่นเดียวกัน การผ่าตัด จะมีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือใช้รักษาเพื่อควบคุมโรค ซึ่งจะใช้รักษาผู้ป่วยระยะลุกลามไม่มากและมี สุขภาพแข็งแรงและการรักษาแบบประคับประคองที่จะใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็น มากแล้วหรือสุขภาพไม่แข็งแรง

เคมีบำบัดจะเช่นเดียวกัน มักใช้รักษาร่วมกับรังสีหรือร่วมกับรังสีและการผ่าตัด

การติดตามผลการรักษา ภายหลังให้การรักษาครบแล้ว แพทย์มักนัดตรวจรักษาเพื่อติดตาม ผลการรักษาโดยใน 1-2 ปีหลังการรักษา อาจนัดตรวจทุก 1-2 เดือน ปีที่ 3-5 หลังการรักษา อาจนัดตรวจทุก 2-3 เดือน ในปีที่ 5 ไปแล้วอาจนัดตรวจ ทุก 6-12 เดือน ในการมาตรวจรักษาแต่ละครั้ง ควรพาญาติสายตรงหรือผู้ดูแลมาด้วย เพื่อร่วมพูดคุยปรึกษากับแพทย์โดยตรง และควรนำยาและผลการตรวจต่างๆ ถ้ามีการตรวจรักษาจากแพทย์ท่านอื่นมาให้แพทย์ดูด้วย ทั้งนี้เพื่อจะได้มีการรักษาได้อย่างเหมาะสม