เมื่อลูกรักต้องดูดเสมหะ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

เมื่อลูกรักต้องดูดเสมหะ

Date : 28 September 2017

ข้อมูลจาก : จงรักษ์  อุตรารัชต์กิจ โครงการส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพปอดเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ภาพจาก : pixabay.com

ความกลัวและความไม่มั่นใจเป็นความรู้สึกที่เกิดกับคุณพ่อคุณแม่ทุกคนที่ดูดเสมหะให้ลูกครั้งแรก     แต่คุณต้องไม่เกิดความรู้สึกว่ากำลังทำร้ายลูกเพราะที่จริงแล้วเรากำลังช่วยเหลือลูก    เมื่อคุณได้เรียนรู้และเข้าใจวิธีดูดเสมหะ     ตลอดจนฝึกฝนจนเกิดความชำนาญแล้ว  คุณจะมีความมั่นใจและรู้สึกว่าการดูดเสมหะเป็นเรื่องง่ายมาก และไม่อยากให้ใครดูดเสมหะให้ลูกนอกจากตัวคุณเอง

ทำไม!  จึงต้องมีเสมหะ

ธรรมชาติได้สร้างเสมหะเพื่อดักจับสิ่งแปลกปลอมที่ผ่านเข้ามาในทางเดินหายใจ และขับเสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมออกโดยไอ  ในภาวะที่มีความผิดปกติของระบบหายใจ เช่น  มีการติดเชื้อหรือมีการระคายเคืองจากการได้รับสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ จะทำให้มีการสร้างเสมหะมากกว่าปกติ

ทำไม!  จึงต้องดูดเสมหะ

คนปกติสามารถสั่งน้ำมูกออกจากช่องจมูกและไอเอาเสมหะออกจากปอดได้  แต่ในกรณีเด็กเล็ก ๆ หรือผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวหรือมีความพิการทางสมองจะไม่สามารถสั่งน้ำมูก และไอได้เอง  จึงต้องทำการดูดเสมหะเพื่อดูดน้ำมูกออกจากช่องจมูกและเป็นการกระตุ้นให้ไอเพื่อขับเสมหะออกจากปอด  การที่ไม่มีน้ำมูกในช่องจมูก และไม่มีเสมหะคั่งค้างในปอดจะทำให้เด็กหายใจสะดวกสามารถดูดนมได้ดี  และนอนหลับสบาย  นอกจากนี้ยังไม่เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค  จึงไม่เกิดการติดเชื้อตามมา

จะดูดเสมหะเมื่อไร เมื่อมีเสมหะ และควรดูดก่อนให้นมหรืออาหาร รู้ได้อย่างไรว่าเด็กมีเสมหะ

เด็กเล็ก ๆ เด็กที่ไม่รู้สึกตัวและเด็กที่มีความพิการทางสมองจะไม่สามารถบอกเราได้ว่าเขามีเสมหะ  เราจะต้องเป็นผู้คอยสังเกตอาการว่าเด็กมีเสมหะหรือไม่  อาการเหล่านี้ได้แก่

  • มีน้ำมูกในจมูกหรือมีเสมหะในคอ
  • หายใจครืดคราด  หรือเมื่อวางมือแนบอกหรือหลัง จะรู้สึกว่าครืดคราด
  • กระสับกระส่าย
  • หายใจลำบาก  จมูกบานหรืออาจจะหายใจเร็วกว่าปกติ
  • ดูดนมไม่ดี
  • รอบปากซีดหรือเขียวคล้ำ

การดูดเสมหะทางจมูกและปาก วิธีดูดเสมหะทำอย่างไร 

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังดูดเสมหะ
  • ในกรณีเด็กที่ไม่ให้ความร่วมมือ ให้ใช้ผ้าห่อตัวเพื่อเก็บแขนทั้ง 2 ข้างป้องกันไม่ให้เด็กเอามือมาปัดและดันขณะดูด  ทำให้ดูดเสมหะได้สะดวกและนุ่มนวล
  • ก่อนดูดเสมหะให้ตรวจเครื่องดูดเสมหะว่าทำงานดีหรือไม่
  • ใช้สายดูดเสมหะขนาดพอดีไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป และใช้แรงดูดในขนาดพอที่จะดูดเสมหะได้ดี
  • ขณะดูดเสมหะให้จับหน้าเด็กหันเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กสะบัดหน้าไปมาขณะดูด และป้องกันไม่ให้เด็กสำลักเสมหะหรือเศษอาหารลงปอดเมื่อเด็กมีอาเจียนขณะดูด  ค่อย ๆ   สอดสายดูดเสมหะเข้าทางปากหรือ       ช่องจมูกให้ถึงบริเวณคอหอยหลังโพรงจมูก (ประมาณความลึกของสายโดยวัดระยะจากปลายจมูกถึงติ่งหูความลึกของสายเท่ากันไม่ว่าจะสอดสายดูดเสมหะเข้าทางปากหรือช่องจมูก)  ซึ่งเด็กมักจะเกิดอาการไอเมื่อใช้สายดูดเสมหะกระตุ้นบริเวณนี้  เมื่อเด็กไอเสมหะจะหลุดจากปอดขึ้นมาในคอ  ทำการดูดเสมหะในคอและปากออกให้หมดโดยขณะดูดให้ค่อย ๆ ขยับสายขึ้นลงอย่างช้า ๆ และนุ่มนวล
  • ทำการดูดเสมหะจนกระทั่งไม่มีเสมหะในปอด
  • สังเกตลักษณะ  จำนวน และสีของเสมหะ      

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

  • ถ้าเด็กไม่มีน้ำมูกให้สอดสายดูดเสมหะผ่านปากเพราะการสอดสาย เข้าทางช่องจมูก จะทำให้เด็กเจ็บมากกว่าการสอดสายเข้าทางปาก
  • การสอดสายเข้าในช่องจมูกให้ค่อย ๆ สอดสายอย่างนุ่มนวลโดยสอดสายให้โค้งขึ้นด้านบนเล็กน้อยแล้วย้อนลงสู่ด้านล่างสายจะค่อย ๆ เคลื่อนไปตามช่องจมูก ถ้าสอดสายแล้วรู้สึกติดห้ามกระแทกหรือดันให้ถอนสายออกมาเล็กน้อย แล้วจึงค่อย ๆ พยายามสอดใหม่หากสอดสายไม่เข้าให้เปลี่ยนไปใส่ช่องจมูกอีกข้างแทน
  • ขณะสอดสายดูดเสมหะเข้าในช่องจมูกให้ทำการดูดเมื่อมีน้ำมูกในโพรงจมูก หรือเด็กมีอาการไอ เพราะถ้าไม่มีน้ำมูกในโพรงจมูกสายดูดเสมหะจะดูดเนื้อเยื่อในโพรงจมูกทำให้เกิดการอักเสบและบวมได้
  • อย่าลืมให้เด็กพักเป็นระยะ ๆ ในระหว่างทำการดูดเสมหะเพื่อไม่ให้เด็กเหนื่อย
  • ภายหลังดูดเสมหะเสร็จอย่าลืมปลอบโยนเด็กโดยการอุ้ม  หรือโอบกอดจนเด็กสงบ และหยุดร้องไห้ 

การดูดเสมหะมีอันตรายหรือไม่

  • การดูดเสมหะที่ถูกวิธีจะมีอันตรายน้อยมาก  ส่วนมากจะมีปัญหาเลือดออกถึงแม้จะระวังเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม  แต่เลือดที่ออกนี้สามารถหยุดได้เองถ้าเลือดออกมากผิดปกติให้ปรึกษาแพทย์

เมื่อไร!  จึงเลิกดูดเสมหะ

  • ไม่มีน้ำมูกหรือเสมหะในปอด
  • เด็กสามารถสั่งน้ำมูก และไอเอาเสมหะออกจากปอดได้ดี

จะทำความสะอาดสายดูดเสมหะอย่างไร!

ภายหลังดูดเสมหะเสร็จให้นำสายดูดเสมหะดูดน้ำประปาเพื่อล้างเสมหะที่ติดภายในสายออกให้มากที่สุด  แล้วนำไปแช่ในน้ำยาล้างจานหรือน้ำสบู่จากนั้นนำมาทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างจานหรือน้ำสบู่อีกครั้ง   โดยใช้ฟองน้ำลูบเสมหะที่ติดภายนอกสายออกให้หมด เปิดน้ำประปาให้ไหลผ่านสายเพื่อชะล้างคราบเสมหะออกให้หมด  ส่วนคราบเสมหะที่อาจติดอยู่ภายในสาย  ให้ใช้กระบอกฉีดยาฉีดน้ำเข้าไปในสายแรง ๆ เพื่อดันคราบเสมหะที่ติดออกให้หมด  สะบัดน้ำคาในสายออกให้มากที่สุดแล้วนำมาเก็บไว้ในกล่องสะอาดที่มีฝาปิดเพื่อเตรียมไว้ใช้ต่อไป 

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

  • ควรเตรียมสายดูดเสมหะให้พอใช้ภายใน 1 วัน ถ้าใช้ไม่หมดจะต้องนำมาล้างทำความสะอาดใหม่ทุกวัน
  • สายดูดเสมหะที่ล้างสะอาดแล้วหากต้องการนำไปผึ่งแดดอีกครั้ง  ควรมีผ้าหุ้มสาย เพื่อป้องกันฝุ่นและแมลงมาเกาะสายขณะผึ่งแดด

ควรดูแลเครื่องดูดเสมหะอย่างไร

  • เสมหะที่อยู่ในขวดรองรับให้เททิ้งในท่อระบายน้ำทิ้งหรือในโถส้วม และราดน้ำลงให้หมด  เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค
  • ทำความสะอาดขวดรองรับและสายที่ต่อจากเครื่องทุกวันด้วยน้ำยาล้างจานหรือน้ำสบู่แล้วล้างด้วยน้ำประปาจนสะอาด
  • ต่อเครื่องดูดเสมหะให้ถูกต้องก่อนใช้
  • ระวังไม่ให้น้ำเข้าเครื่องดูดเสมหะ เพราะจะทำให้เครื่องเสีย