ภาวะสายตาผิดปกติ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

ภาวะสายตาผิดปกติ

Date : 14 June 2015

ภาวะสายตาผิดปกติ
การมองเห็นของคนสายตาปกติ เกิดขึ้นเมื่อแสงจากวัตถุวิ่งผ่านกระจกตาและเลนส์ตาไปตกพอดีบนจอประสาทตา
จากนั้นจอประสาทตาจะส่งภาพซึ่งอยู่ในรูปของคลื่นไฟฟ้าไปยังสมอง เพื่อแปลเป็นภาพที่เราเห็น ซึ่งหากภาพที่ชัดเจนตกบนจอประสาทตาพอดี 

เราจะเห็นภาพนั้นได้คมชัด ถ้ากำลังการรวมแสงของตาไม่ตกพอดีที่จอประสาทตา จะทำให้เกิดภาวะสายตาผิดปกติ ซึ่งแยกได้ดังนี้

สายตาสั้น (Nearsightedness หรือ Myopia)
เกิดจากการที่กระจกตาโค้งเกินไป หรือขนาดลูกตายาวเกินไปทำให้กำลังการรวมแสงของตามากเกินไปเมื่อเทียบกับความยาวของลูกตาจนทำให้แสงจากวัตถุไปโฟกัสก่อนถึงจอประสาทตา
ทำให้การมองเห็นภาพในที่ไกลไม่ชัด


สายตายาวโดยกำเนิด (Farsightedness หรือ Hyperopia)
เกิดจากการที่กระจกตาแบนเกินไป หรือขนาดของลูกตาสั้นเกินไป ส่งผลให้กำลังการรวมแสงน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับความยาวของลูกตา ทำให้จุดโฟกัสแสงจากวัตถุไปตกเลยจอประสาทตา ทำให้การมองเห็นภาพไม่ชัดทั้งใกล้และไกล


สายตาเอียง (Astigmatism)
เกิดจากการที่กระจกตามีความโค้งไม่เท่ากันในแต่ละแนวทำให้กำลังการรวมแสงของตาใน แนวต่างๆ ไม่เท่ากัน
จุดโฟกัสในแต่ละแนวจึงไม่เป็นจุดเดียวกัน ทำให้มองเห็นภาพซ้อน จึงมองไม่ชัดทั้งใกล้และไกล
สายตายาวตามอายุ (Presbyopia)ภาวะนี้มักเกิดขึ้นกับผู้ทีมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยปกติในคนอายุน้อยเลนส์ตาสามารถปรับเปลี่ยนจุดโฟกัสแสงให้ตกที่จอประสาทตาพอดีทั้งในการมองระยะใกล้และไกล
ทำให้สามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจน แต่เมื่ออายุมากขึ้นความสามารถของเลนส์ตาในการปรับเปลี่ยนโฟกัสก็จะลดลง ทำให้ต้องใส่แว่นที่มีกำลังเป็นบวก
หรือเลนส์สายตายาวช่วยในการอ่านหนังสือ

 

การแก้ไขภาวะสายตาที่ผิดปกติ 
หลักการแก้ไขภาวะสายตาที่ผิดปกติ คือ ต้องทำการปรับกำลังในการหักเหแสงทั้งหมดให้พอดีกับความยาวของลูกตา ซึ่งอาจทำได้หลายวิธีได้แก่

แว่นตา (Spectacles) โดยเลนส์ของแว่นตาจะช่วยในการรวมกำลังแสงให้ตกลงบนจอรับภาพพอดี เป็นวิธีการที่มีความปลอดภัยสูง ง่ายต่อการดูแลรักษา อีกทั้งมีรูปแบบให้เลือกหลากหลายสไตล์ สามารถเปลี่ยนได้บ่อยตามใจชอบ แต่มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ความไม่สะดวกในการเล่นกีฬา การประกอบอาชีพบางอย่าง และกรณีสายตาสองข้างมีความแตกต่างกันมาก ทำให้ไม่สามารถใส่แว่นตาได้

เลนส์สัมผัส หรือคอนแทคเลนส์ (Contact Lens) เป็น อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มีสายตาผิดปกติ และไม่สะดวกที่จะใส่แวนตา หรือนักกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ช่วยให้มองภาพในมุมกว้างได้ดี และเหมาะสมในรายที่สายตาทั้งสองข้างมีความแตกต่างกันมาก แต่จะมีข้อควรระวังในเรื่องการดูแลรักษาความสะอาด เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระจกตาติดเชื้อ ซึ่งอาจรุนแรงจนสูญเสียตาได้ และในบางรายก็ไม่เหมาะสมกับการใช้เลนส์สัมผัส เช่น มีภาวะตาแห้ง ภูมิแพ้คราบโปรตีนที่สะสมในเลนส์ และในน้ำยาล้างเลนส์ ไม่แนะนำให้ใส่เลนส์สัมผัสในขณะที่ทำกิจกรรมกีฬา และสันทนาการบางประเภท เช่น ว่ายน้ำ ดำน้ำ และไม่ควรใส่เลนส์สัมผัสนอน การใช้เลนส์สัมผัสควรได้รับการตรวจและแนะนำจากจักษุแพทย์
 

การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ (refractive surgery) มีหลายวิธี แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบันได้แก่

การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติโดยใช้เลเซอร์ (Excimer Laser) มี 2 วิธีคือ PRK (Photorefractive Keratectomy) และ LASIK (Laser In-Situ-Keratomileusis) เป็นวิธีแก้ไขสายตาที่ถาวร โดยการเปลี่ยนความโค้งกระจกตา วิธี PRK นั้นเป็นวิธีที่ใช้เลเซอร์ขัดผิวกระจกตาโดยตรง ส่วน LASIK นั้น จะมีการใช้เครื่องมือแยกชั้นกระจกตา ฝานกระจกตาเป็นฝาเปิด แล้วขัดผิวกระจกตาด้านล่างด้วยเลเซอร์ จากนั้นจึงปิดฝากระจกตาตามเดิม รอแผลสมาน 3-5 นาที ทั้งสองวิธีสามารถแก้ไขสายตาสั้น ยาว เอียง ในกรณีสายตาสั้น เลเซอร์จะขัดผิวกระจกตาตรงกลาง ทำให้กระจกตาตรงกลางแบนลง ส่วนสายตายาว เลเซอร์จะขัดผิวเป็นวงบริเวณขอบกระจกตา ทำให้กระจกตาตรงกลางโค้งนูนขึ้น

การผ่าตัดโดยฝังเลนส์เสริม (Phakic Intraocular Leans) เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เหมาะสำหรับ ผู้ที่มีสายตาผิดปกติมากๆ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วย LASIK เนื่องจากจะทำให้กระจกตาบางลงมาก จนขาดความแข็งแรง หรือในรายที่กระจกตาบางมาก รายที่มีภาวะตาแห้ง เลนส์นั้นได้รับการออกแบบมาเพื่อนำไปใส่ในลูกตาแบบถาวร โดยสามารถเอาเลนส์ออกได้หากไม่ต้องการ และไม่ต้องเอาเลนส์ธรรมชาติออกจากตา โดยจักษุแพทย์จะตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดก่อนการผ่าตัดฝังเลนส์เสริม

เลนส์เสริมที่นิยมใช้ในประเทศไทยมี 2 ลักษณะคือ
เลนส์เสริมที่ใส่ในตำแหน่งด้านหน้ารูม่านตา โดยมีก้ามยึดติดกับม่านตา
เลนส์เสริมที่ใส่ในตำแหน่งด้านหลังรูม่านตา โดยฝังลอยระหว่างม่านตาและเลนส์แก้วตาปกติ

วิธีการรักษาสายตายาวตามอายุ (Prebyopia)
ปัจจุบันได้มีการรักษาที่เรียกว่า CK (Conductive Keratoplasty) เป็นการรักษาสายตายาว โดยใช้คลื่นวิทยุ ซึ่งจะถูกส่งผ่านไปยังเนื้อเยื่อบริเวณขอบกระจกตา ทำให้เกิดการกดตัวของเส้นใยคอลลาเจน ทำให้กระจกตาโค้งนูนขึ้น ผลที่ได้จะทำให้การดูระยะใกล้ชัดขึ้น แต่ความชัดเจนของการมองไกลจะลดน้อยลง โดยปกติจะทำเพียงข้างเดียวเพื่อมองใกล้ และอีกข้างไว้เพื่อมองไกลชัดเต็มที่

 

ที่มา : เว็บไซต์โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต