คงไม่มีใครเถียงว่า เมืองไทยเป็นเมืองที่มีอากาศแปรปรวนมากเมืองหนึ่งของโลก วันนี้หนาว แต่พออีกวันร้อนตับแตก อีกวันฝนก็ตกลงมา เลยไม่รู้ว่าเป็นหน้าไหนกันแน่...อากาศเปลี่ยนบ่อยอย่างนี้ร่างกายเราก็แย่สิครับ..หวัดถามหาเลย
ไข้หวัดเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ในเด็กเล็กมักจะเป็นเฉลี่ยเดือนละครั้ง และในผู้ใหญ่ปกติมักเป็นเฉลี่ยปีละ 2-3 ครั้ง สาเหตุก็เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีอยู่ประมาณ 200 ชนิด ที่ทำให้เกิดไข้หวัดได้ และแต่ละชนิดก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเรื่อย พออายุมากขึ้นเด็กเริ่มมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น การป่วยเป็นไข้หวัดก็จะน้อยลงและห่างออกไป
ไข้หวัดติดต่อกันได้ง่ายโดยการอยู่ใกล้ชิดกัน ที่ไหนมีคนหมู่มาก หวัดก็จะชุก ระยะฟักตัวของไข้หวัด คือระยะตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งมีอาการประมาณ 1-3 วัน โดยเริ่มมีไข้เป็นพัก ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คัดจมูกมีน้ำมูกไหลใส ๆ ไอแห้ง ๆ หรือมีเสมหะสีขาวเล็กน้อย จาม เจ็บคอเล็กน้อย ในเด็กจะมีอาการมากกว่าผู้ใหญ่
ในรายที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะในเด็กเล็กอาจมีอาการไข้สูง และชักจึงควรระมัดระวังไว้ และถ้าเป็นเกินกว่า 3 วัน อาจมีน้ำมูกข้นเขียว หรือเหลือง หรือไอมีเสมหะสีเขียวหรือเหลือง เนื่องจากมีเชื้อแบคทีเรียเข้าซ้ำเติม และอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ควรปรึกษาคุณหมอโดยเร็ว
เพราะคิดว่าไข้หวัดเป็นเองหายเองได้ เราจึงมักไม่ค่อยคิดถึงโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่จะตามมา มีบางรายที่เป็นรุนแรงและมีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ทำให้ลุกลามไปบริเวณใกล้เคียง เช่น เกิดไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ที่ทำงานหนัก หรือผู้สูงอายุ
รับมือกับไข้หวัด
ทำได้โดยการ....
เมื่อมีไข้สูง
ผมไม่แนะนำให้ซื้อหายามาทานเอง แต่จะให้ข้อควรปฏิบัติดังนี้ ถ้ามีไข้ไม่สูง น้ำมูกใส และไอไม่มาก ก็อาจใช้ยาสามัญประจำบ้าน เช่น พาราเซตามอล คลอเฟนนิรามีน ยาแก้ไอน้ำดำ ยาแก้ไอน้ำเชื่อม ทานบรรเทาอาการได้ ทั้งนี้ควรอ่านฉลากยาให้เข้าใจ และหากอาการไม่ดีขึ้นใน 3 วัน ควรปรึกษาคุณหมอจะดีที่สุดครับ
ยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะไม่มีความจำเป็นใด ๆ เลย เพราะไม่มีผลต่อเชื้อไวรัสอยู่แล้ว ยกเว้นในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว เช่น มีน้ำมูกเขียวหรือเหลือง เสมหะเขียวหรือเหลือง มีอาการหูน้ำหนวก หรือต่อมทอนซิลอักเสบตามมา การใช้ยาปฏิชีวนะอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอ และใช้ให้ครบขนาด เพราะไม่อย่างนั้นเชื้อจะดื้อยาได้
ระวัง..โรคแทรกซ้อน
ข้อควรระมัดระวังอย่างยิ่ง คือ การที่ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง หายใจหอบเจ็บหน้าอก ปวดศีรษะมาก มีจ้ำเลือดตามแขนและขา หรือลำตัว อาการเหล่านี้มักเป็นภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัด หรือผู้เป็นโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายไข้หวัด เช่นไข้เลือดออก ปอดอักเสบ ไอกรน คอตีบ ไข้ไขสันหลังอักเสบ จึงควรปรึกษาคุณหมอโดยเร็วครับ
ไข้หวัดธรรมดาต่างจากไข้หวัดใหญ่อย่างไร
หวัดทั้งสองชนิดเกิดจากเชื้อไวรัสเหมือนกัน แต่ต่างชนิดกัน อาการจะคล้ายคลึงกันมาก แต่ไข้หวัดใหญ่มักมีไข้สูงและปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก
และมีข้อสังเกตว่าไข้หวัดธรรมดามักเป็นหวัดมาก ส่วนไข้หวัดใหญ่เป็นหวัดน้อย แม้จะแยกไข้หวัดทั้งสองชนิดนี้ไม่ออก แต่ก็สามารถดูแลรักษาเหมือน ๆ กันได้
เรื่องที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับไข้หวัด