อาหารทะเลถือเป็นอาหารที่หลายคนโปรดปราน แต่มีหลายคนที่มีอาการแพ้อาหารทะเลโดยเฉพาะการแพ้กุ้งซึ่งเป็นอาหารทะเลที่ค่อนข้างพบบ่อยมากกว่าอาหารทะเลชนิดอื่น ซึ่งต้นเหตุของอาการแพ้กุ้งนั้นเกิดจากอะไรและกินกุ้งอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดอาการแพ้หรือห่างไกลอาการแพ้มากที่สุด
อาการแพ้กุ้ง
ส่วนใหญ่ผู้ที่มีอาการแพ้กุ้งหรืออาหารทะเลนั้น จะมีอาการแพ้ภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานเข้าไป ซึ่งอาการที่สังเกตได้ง่ายคือ เป็นผื่นขึ้นตามตัวคล้ายลมพิษ มีอาการคันมาก คัดจมูก ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หากมีอาการแพ้มากจะมีอาการหายใจไม่ออก ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงมากอาจถึงขั้นช็อคหมดสติและเสียชีวิตได้
สาเหตุที่ทำให้แพ้กุ้ง
เนื่องจากในกุ้งมีสารก่อภูมิแพ้ คือ โปรตีนฮีโมไซยานินซึ่งพบมากในกุ้งก้ามกราม ซึ่งเป็นกุ้งน้ำจืดและสารโปรตีนลิพิด บายดิง, โปรตีน แอลฟาแอกตินิน ในกุ้งกุลาดำที่เป็นกุ้งทะเล อย่างไรก็ตามสำหรับบางกรณีอาจเป็นการแพ้สัตว์ที่มีเปลือกแข็งซึ่งมีสารไคตินเป็นองค์ประกอบของเปลือก เช่น กั้งและปูชนิดต่างๆ เมื่อกินเข้าไปพร้อมๆกับกุ้ง อาจะทำให้เราเข้าใจว่าเราแพ้กุ้ง ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่
ดังนั้นเมื่อมีอาการแพ้ ควรหาให้เจอว่าเราแพ้กุ้งทะเลหรือกุ้งน้ำจืด แพ้อาหารทะเลทั้งหมดหรือไม่ หรือว่าแพ้เฉพาะสัตว์เปลือกแข็ง ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อที่เราจะได้หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ได้อย่างถูกต้อง และง่ายต่อการรักษาของแพทย์เมื่อเกิดอาการแพ้
ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอาการแพ้กุ้ง
การรักษาด้วยยานั้นเป็นเพียงการรักษาตามอาการเท่านั้นหากทราบว่าตนเองแพ้อาหารชนิดใดควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารชนิดนั้นเป็นดีที่สุด เพื่อความปลอดภัยและป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดจากอาการแพ้ได้