โรคเบาหวาน + โรคหลอดเลือดส่วนปลาย = สาเหตุของการถูกตัดขา! | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

โรคเบาหวาน + โรคหลอดเลือดส่วนปลาย = สาเหตุของการถูกตัดขา!

Date : 27 November 2015

“โรคเบาหวาน” ต้นตอของ “โรคหลอดเลือดส่วนปลาย”  หรือ เป็นภาวะของ “หลอดเลือดตีบตันที่ขา”
โดยโรคเบาหวานทำให้เกิดหลอดเลือดตีบตันได้ง่ายจากไขมันอุดตัน ซึ่งเมื่อเลือดไปตีบตันที่ขา จะทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงได้น้อย และทำให้เส้นประสาทเสื่อมได้ โดยเฉพาะเส้นประสาทที่เกี่ยวกับความรู้สึก

ส่งผลอย่างไร  เมื่อโรคหลอดเลือดส่วนปลาย...ถามหา
เมื่อหลอดเลือดไปตีบตันที่ขา ผู้ป่วยที่มีบาดแผลๆ ก็จะหายช้าหรือไม่หาย เพราะเลือดไปเลี้ยงในการสมานแผลได้น้อย บางรายที่เส้นประสาทจากความรู้สึกเสื่อม จะไม่รู้สึกเจ็บบาดแผล  จึงคิดว่าอาการไม่รุนแรงและทำให้ขาดการรักษาจากแพทย์อย่างถูกวิธี ทำให้เกิดแผลดำเน่า และต้องตัดเท้าหรือขาในส่วนที่เน่าเสียออก ในที่สุด

สัญญาณอันตราย...โรคหลอดเลือดส่วนปลาย

  • ชาที่เท้า หรือเจ็บเท้าขณะอยู่เฉยๆ   
  • ปวดเมื่อยบริเวณน่อง เมื่อเดินในระยะสั้นๆ
  • มีตาปลา หรือหนังเท้าหนา
  • เท้าผิดรูป ทำให้เดินหรือกระดกเท้าลำบาก


บัญญัติ 10 ประการ ดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน

  1. ล้างเท้าด้วยสบู่ - ใช้ผ้าแห้งสะอาดเช็ดซอกเท้าเบาๆ ทุกวัน
  2. หมั่นตรวจเท้า ผิวหนังของเท้าทุกวัน หากซีดคล้ำ หรือมีตาปลาควรปรึกษาแพทย์
  3. ใช้โลชั่น ลูบไล้ที่ผิวขาและเท้าทุกวัน ช่วยป้องกันผิวแตกและโรคแทรกซ้อน
  4. สวมถุงน่อง ถุงเท้าที่ทำจากใยฝ้ายและไม่รัดแน่นจนเกินไป
  5. เลือกรองเท้าให้พอเหมาะ ไม่บีบแน่นเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดแผลได้
  6. ไม่ควรแช่เท้าในน้ำเป็นเวลานาน เพราะหากเท้าเปื่อย เชื้อโรคจะเข้าไปฝังตัวได้ง่าย
  7. เมื่อเท้ามีบาดแผล ต้องรีบล้างแผลโดยเร็ว  ถ้ามีการอักเสบ ควรรีบพบหมอ
  8. ตัดเล็บสม่ำเสมอ เพื่อให้สวมรองเท้าและเดินง่าย  ลดการเสียดสีที่ทำให้เกิดแผล
  9. ต้องหมั่นบริหารเท้า ให้เลือดไหลเวียนคล่อง
  10. ควรงดสูบบุหรี่ เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่ออื่นๆ ตามมา

จากการเก็บข้อมูลคนไข้ของ รพ.เชียงใหม่ ที่มีการนำแนวทางปฏิบัติ 10 ข้อ (บัญญัติ 10 ประการ ดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน) มาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด พบว่า จำนวนการตัดขาของผู้ป่วยลดลงจากเดิมปีละ 13.6% เหลือเพียง 4% ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยต่อเนื่อง เพื่อติดตามดูว่าในระยะเวลาอีก 3 ปีต่อจากนี้ โรคหลอดเลือดส่วนปลายจากกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย* จำนวน 2,200 คน ว่าจะมีโรคแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้อีกบ้าง

ที่มา : งานวิจัยภาระและระบบการดูแลโรคหลอดเลือดส่วนปลาย โดยการสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)