ในวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันเอดส์โลก ซึ่งถือเป็นโอกาสที่หน่วยงานต่างๆ จะได้รณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ แต่ว่าอีกด้านหนึ่งของสังคมยังมีทัศนะหรือความเข้าใจผิด ในเรื่องการติดเชื้อและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ บอกถึงความแตกต่างระหว่างเอชไอวีกับเอดส์ว่า “เอชไอวี” ไม่ใช่โรค แต่เป็นเชื้อไวรัส ผู้มีเชื้อเอชไอวีจะไม่ใช่ผู้ป่วย เพราะยังไม่มีอาการแสดงใดๆ ที่สัมพันธ์กับเอดส์ ในช่วง 2 – 3 สัปดาห์หลังรับเชื้อ ร่างกายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด เจ็บคอ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต จากนั้นจะหายไปเอง ส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อ นี่คือระยะที่ 1 หรือ ระยะไม่มีอาการ ผู้ที่อยู่ในระยะนี้ เรียกว่า ผู้มีเชื้อเอชไอวี หรือ ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี
ขณะที่ “เอดส์” คือ กลุ่มอาการที่เกิดต่อเนื่องมาจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ไปสู่ระยะมีอาการที่สัมพันธ์กับเอดส์ ซึ่งจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว เป็นผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำกว่าปกติ ทำให้ติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่างๆ เช่น วัณโรค ปอดบวม หรือเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายกว่าคนปกติ
รู้หรือไม่ เอชไอวีกับเอดส์แตกต่างกัน
“เอดส์รักษาได้ เชื้อเอชไอวีควบคุมได้”
นายนิมิตร์ อธิบายว่า ในช่วงที่เรามีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกาย แต่ยังไม่มีอาการป่วย เรียกว่า เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะร่างกายของเรายังมีภูมิคุ้มกันที่ควบคุม หรือจัดการกับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้อยู่ และเมื่อภูมิคุ้มกันถูกทำลายเหลือจำนวนน้อย จนไม่สามารถควบคุม หรือจัดการกับเชื้อโรคบางอย่างได้ ทำให้เราป่วยด้วยเชื้อโรคนั้นๆ เรียกว่า ‘เริ่มมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง’ และผู้ที่อยู่ในระยะนี้จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยเอดส์ เนื่องจากโรคที่เราป่วยมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จึงเรียกว่า ‘โรคฉวยโอกาส’ ซึ่งทุกโรครักษาได้ หลายโรคป้องกันไม่ให้ป่วยได้ ดังนั้นหากไม่รับเชื้อเพิ่ม รวมทั้งได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวี สุขภาพก็จะแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยบ่อย
3 แนวทางห่างไกลเอดส์
เราถามตัวเองได้ว่า มีความเสี่ยงหรือไม่ โดย
1. เรามักมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ป้องกัน หรือไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยเลยหรือไม่
2. คู่ของเราไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นด้วยหรือไม่ หรือเรามีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อยหรือไม่
3. ถ้าหากมีพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ ควรเข้ารับการไปตรวจหาเชื้อเอชไอวี
รู้หรือไม่ เอชไอวีกับเอดส์แตกต่างกัน
“ตอนนี้การติดเชื้อเอชไอวีไม่ใช่ว่า เป็นเรื่องร้ายแรงและน่ากลัวที่สุดเหมือนช่วงแรกๆ ที่เรารู้จักเอดส์ เพราะตอนนี้ต้องใช้คำว่าเอดส์รู้เร็วรักษาได้ ถ้าไม่เกิน 30 วันก็ยังถือว่าเป็นการติดเชื้อแบบเฉียบพลันอยู่ ยังมีโอกาสมีความหวังที่จะควบคุมปริมาณไวรัสให้เหลือน้อยที่สุด แต่ถ้าเกินกว่านั้นก็ยังไม่เป็นอะไร เราสามารถกินยารักษาต้านเชื้อไวรัสตามเกณฑ์ที่กำหนด เราดูร่างกายดีๆ ก็สามารถควบคุมโรคแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อควบคุมไวรัสให้เหลือน้อยที่สุดก็จะไม่ป่วย” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สรุป
นายนิมิตร์ บอกทิ้งท้ายว่า การจะยุติปัญหาเอดส์ได้ คือการสวมถุงยางอนามัย ซึ่งป้องกันได้ทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ปัจจุบันคนไทยทุกคนสามารถไปตรวจเอดส์ได้ฟรี ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศปีละ 2 ครั้ง สำหรับผู้ที่สนใจขอรับคำปรึกษาปัญหาเอดส์และท้องไม่พร้อม สามารถติดต่อได้ที่ โทร.1663 ทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00 – 21.00 น.
การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง จะช่วยคลี่คลายความกังวลใจ สร้างความมั่นใจและยอมรับในการอยู่ร่วมกัน ได้อย่างเป็นปกติสุข
เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี Team Content thaihealth.or.th