เบาหวานขึ้นตา ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

เบาหวานขึ้นตา ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

Date : 18 December 2015

โรคตาที่พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน
โดยหลักแล้วผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานจะต้องได้รับการตรวจดวงตาเป็นประจำทุกปี เพื่อดูว่ามีภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการตรวจภาวะต้อกระจกและต้อหินร่วมด้วย เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนแปลงไป อาจส่งผลให้เป็นต้อกระจกเร็วขึ้น และการป่วยด้วยโรคเบาหวานเมื่อนานวันเข้า อาจทำให้เกิดต้อหินได้ ซึ่งแต่ละปัญหาจะมีวิธีรักษาแตกต่างกันไป

 

เบาหวานขึ้นจอประสาทตาแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ

1.ระยะที่ยังไม่มีเส้นเลือดงอกผิดปกติ ในระยะนี้ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่ต้องตรวจติดตามอาการเป็นระยะทุก 4-8 เดือนแล้วแต่กรณี

2.ระยะที่มีเส้นเลือดงอกผิดปกติ เนื่องจากโรคเบาหวานทำให้ระบบการไหลเวียนเลือดในร่างกายแย่ลง เมื่อเลือดไม่สามารถนำออกซิเจนมาเลี้ยงเซลล์ในดวงตาได้เหมือนเดิม กลไกของร่างกายจึงพยายามงอกเส้นเลือดใหม่ขึ้นมา เมื่ออาการดำเนินมาถึงระยะนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีการยิงเลเซอร์บริเวณจอประสาทตา ที่ไม่มีผลต่อการรับภาพและยิงเลเซอร์ทำลายเส้นเลือดงอกใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้การมองเห็นแย่ลงหรือสูญเสียการมองเห็นในอนาคต เนื่องจากถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ เส้นเลือดที่งอกผิดปกติอาจแตกออก กลายเป็นเลือดออกในลูกตา ผู้ป่วยจึงมองไม่เห็น บางรายมีอาการตื่นนอนขึ้นมาแล้วพบว่ามองอะไรไม่เห็นเลย สำหรับการยิงเลเซอร์อาจต้องยิงซ้ำหลายครั้ง จนกว่าจะถึงจุดที่เหมาะสม หลังจากยิงเลเซอร์ผู้ป่วยอาจมีอาการตามัวอยู่ครู่หนึ่ง แต่เป็นอาการมัวเนื่องจากความสว่างของแสงเลเซอร์ ผู้ป่วยจะมองเห็นทุกอย่างเป็นสีม่วงๆ สักพักก็จะกลับเป็นปกติ

นอกจากนี้เส้นเลือดที่งอกผิดปกติอาจก่อให้เกิดพังผืดไปดึงรั้งจอประสาทตา ทำให้เกิดภาวะจอประสาทตาลอก หรือภาวะจอประสาทตาฉีกขาดได้อีกด้วย หากเป็นในจุดที่อันตราย ทำให้การมองเห็นแย่ลง หรือมีเลือดออกมาก โดยที่เลือดไม่สลายไปเอง แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยวิธีผ่าตัดวุ้นตา โดยเจาะรูขนาดเล็ก (ขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร) เข้าไปในลูกตา แล้วทำการผ่าตัดผ่านรูนั้น จะช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น

สำหรับโรคตาอื่นๆ เช่น ต้อกระจก การรักษาทำได้โดยผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “การลอกต้อกระจก”  แล้วใส่เลนส์เทียมเข้าไปแทนในกรณีของผู้ป่วยเบาหวาน อาจมีภาวะที่เป็นอุปสรรค์ต่อการผ่าตัดต้อกระจก เช่น ม่านตาไม่ขยาย เนื่องจากปกติเวลาผ่าตัดต้อกระจกจะต้องขยายม่านตาให้กว้าง ถ้าม่านตาขยายได้น้อย (มักพบในผู้ป่วยเบาหวาน) จะทำให้การผ่าตัดยากขึ้นเล็กน้อย แต่ก็สามารถทำได้ สำหรับการเกิดต้อหินมักเป็นผลพวงมาจากภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา และเป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาเช่นเดียวกัน

เริ่มตรวจดวงตาเมื่อไหร่ดี
 ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจดวงตา หากแบ่งตามชนิดของเบาหวาน สามารถแบ่งได้เป็น
 • ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 การตรวจดวงตาสามารถรอได้สักระยะ โดยแนะนำให้ไปตรวจดวงตาหลังจากวินิจฉัยโรคเบาหวานแล้ว 5 ปี จากนั้นให้ตรวจเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
 • ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แนะนำให้ตรวดวงตาทันทีที่ได้รับการวินิจฉัยโรคเบาหวาน และตรวจเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

เหตุผลที่ผู้ป่วยเบาหวานควรไปรับการตรวจดวงตาอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเบาหวานขึ้นจอประสาทตาในระยะแรกๆ จะไม่มีอาการแสดงใดๆ ผู้ป่วยยังคงมองเห็นเป็นปกติ กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวว่าเป็นเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ส่วนใหญ่จะเป็นมากแล้ว

สิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วยควรเข้าใจคือ กระบวนการรักษาภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ทำได้เพียงชะลอไม่ให้การมองเห็นแย่ลงกว่าเดิม แต่ไม่สามารถทำให้ดวงตากลับมาดีเป็นปกติเหมือนก่อนเกิดโรคได้ ดังนั้น ก่อนที่จะมาถึงขั้นนี้ ผู้ป่วยเบาหวานสามารถป้องกันภัยร้ายคุกคามดวงตาได้ ด้วยการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด (ทั้งระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร และระดับน้ำตาลสะสม) ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมทั้งมาตรวจดวงตาอย่างสม่ำเสมอ


อ.พญ.แพร์ พงศาเจริญนนท์
ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย