ในทางจิตเวชจัดว่าโรคไบโพลาร์เป็นโรคทางอารมณ์ ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการหลงผิด ประสาทหลอน แต่พบไม่บ่อยและเป็นไม่นาน ลักษณะของอาการสามารถจำแนกได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้
1. ระยะซึมเศร้า ผู้ป่วยจะรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมด จากเดิมชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ติดละครหรือดูข่าวก็จะไม่สนใจติดตาม บางคนจะซึมเศร้า อ่อนไหว ร้องไห้บ่อย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ความจำแย่ลง หลงๆ ลืมๆ ใจลอย ไม่มั่นใจในตนเอง จะมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบไปหมด คิดว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น ไม่มีใครสนใจตนเอง บางครั้งอาจคิดถึงเรื่องการตาย
2. ระยะเมเนีย ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดีเกินกว่าปกติ รู้สึกมั่นใจในตัวเองมาก มองว่าตนเองเก่ง มีความคิดมากมาย คิดเร็ว พูดมาก พูดเก่ง คล่องแคล่ว มนุษยสัมพันธ์ดี ชอบช่วยเหลือคนอื่น ในระยะนี้ ผู้ป่วยมักใช้เงินเก่ง ใช้จ่ายเกินตัว ขยันขันแข็ง อยากทำโน่นทำนี่ นอนดึกตื่นเช้า เพราะมีเรื่องให้ทำเยอะแยะไปหมด และด้วยความที่ตัวผู้ป่วยเองสนใจสิ่งต่างๆ มากมาย ทำให้เกิดอาการวอกแวกมาก ไม่สามารถอดทนทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ สิ่งที่ตามมาก็คือ ความยับยั้งชั่งใจของผู้ป่วยจะมีน้อยมาก เช่น นึกอยากจะทำอะไรต้องทำทันที หากมีใครมาห้ามจะโกรธอย่างรุนแรง หากเป็นมากๆ อาจถึงขั้นอาละวาดได้
ลองประเมินตัวเองและคนรอบข้างซิครับ ว่าเข้าข่ายอย่างที่กล่าวมาหรือไม่ หรือว่าคิดมาก คิดเยอะเกินไป หากท่านไม่มั่นใจว่าเราเข้าข่ายโรคไบโพลาร์หรือไม่ ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อการวินิจฉัย และการแนะนำที่ถูกต้องก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้นะครับ
ที่มา : http://www.thairath.co.th/ โดย รองศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี