โรคไตเรื้อรัง | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

โรคไตเรื้อรัง

Date : 28 December 2015

ไตของเรา
มีรูปร่างคล้ายถั่ว อยู่บริเวณใต้ชายโครงด้านหลังทั้ง 2 ข้าง

หน้าที่ของไต

  • เป็นตัวกรองน้ำ และกำจัดของเสียและสารพิษออกจากร่างกาย
  • ควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ตลอดจนความเป็นกรด-ด่างในเลือด
  • สร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดเลือดแดง และวิตามินดี

จะเห็นว่า ไตเป็นอวัยะที่สำคัญไม่น้อย หากเราไม่ดูแลสุขภาพให้ดี  ไตของเราก็อาจทำงานผิดปกติ  ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคไตเรื้อรัง

รู้จักโรคไตเรื้อรัง…
โรคไตเรื้อรัง คือ การที่ไตมีภาวะการทำงานผิดปกติ หรือมีการทำงานของไตที่ลดลง โดยดูจากค่าอัตราการกรองของไตที่ผิดปกติ ในระยะเวลามากกว่า 3 เดือนขึ้นไป
ระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อไตทำงานเสื่อมลง จนหน่วยไตเหลือน้อยกว่าร้อยละ10 ก็จะมีของเสียคั่งในกระแสเลือดและมีอาการต่างๆ ตามมา
 
อาการของโรคไตเรื้อรัง

  1. ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
  2. ขาบวมและกดบุ๋ม
  3. ความดันโลหิตสูง
  4. สาเหตุของโรคไตเรื้อรัง
  5. เบาหวาน
  6. ความดัน
  7. โรคไตอักเสบ
  8. โรคไตขาดเลือด
  9. โรคทางพันธุกรรม
  10. โรคนิ่วในไต


อาการอื่นๆ
คลื่นไส้ อาเจียน โลหิตจาง สะอึก เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หอบเหนื่อย รับประทานอาหารไม่ได้ มีโอกาส ชัก หมดสติ  และเสียชีวิตในที่สุด  

  • ในเพศหญิงมักมีการขาดประจำเดือนและไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
  • ในเพศชายจะมีความรู้สึกทางเพศลดลง การสร้างอสุจิลดลง

ผู้ที่มีความเสียงต่อโรคไตเรื้อรังและควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรค

  1. มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
  2. มีโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรัง
  3. ได้รับสารพิษหรือยาที่ทำลายไต
  4. มีมวลเนื้อไตลดลง ทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิดหรือเป็นภายหลัง
  5. มีประวัติโรคไตเรื้อรังในครอบครัว

การรักษาโรคไตเรื้อรัง
1. การรักษาแบบประคับประคอง เพื่อชะลอการเสื่อมของไตสำหรับผู้ป่วยระยะเริ่มต้น
- รับประทานยาและอาหารบำบัด
- ควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสม
- งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงสารหรือยาที่มีผลเสียต่อไต

2. การรักษาด้วยวิธีบำบัดทดแทนไต
คือกระบวนการการรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย เพื่อทดแทนไตที่ไม่สามารถทำงานได้เองตามที่ควรจะเป็น เพื่อช่วยขจัดของเสียที่ค้างอยู่ในร่างกาย  สามารถทำได้ 3 วิธี ดังนี้
2.1 การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)
วิธีการ : นำเลือดผ่านเข้าเครื่องไตเทียม ไปยังเยื่อตัวกรอง เพื่อฟอกเลือดให้สะอาด
ระยะเวลา : 4-5 ชั่วโมงต่อครั้ง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
 

2.2 การฟอกไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis)
วิธีการ :  ใส่ถุงน้ำยาล้างไตเข้าไปทิ้งค้างในช่องท้อง  โดยอาศัยเยื่อบุช่องท้องเป็นตัวกลางในการฟอกเลือด
ระยะเวลา :  วันละ 4 รอบต่อเนื่องกันทุกวัน หรืออาจใช้เครื่องอัตโนมัติช่วยฟอกทำการเปลี่ยนน้ำยาแทน


2.3 การปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation)
คือ การนำไตที่ดีจากผู้บริจาค ใส่ในช่องเชิงกรานของผู้ป่วยทดแทนไตเดิม
ผู้ให้ไต แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1)ผู้ให้ไตที่เสียชีวิตแล้ว
2)ผู้ให้ไตที่ยังมีชีวิต เช่น พ่อ แม่ หรือญาติของผู้ป่วยที่มีเนื้อเยื่อที่เข้ากันได้