ใช้ยาอย่างไร ให้ปลอดภัยต่อไต | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

ใช้ยาอย่างไร ให้ปลอดภัยต่อไต

Date : 28 December 2015

ใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัยต่อไต
ไตเป็นอวัยวะที่มีหนี่ในการขจัดของเสียและสารต่างๆ ที่ร่างกายไม่ต้องการ รวมถึงยาหรือสารต่างๆ ออกในรูปปัสสาวะ ดังนั้นไตจึงมีความเสี่ยงสูงในการได้รับอันตรายจากพิษของยาและสารเคมีบางอย่างได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานของไตบกพร่องแต่เดิมอยู่แล้ว และจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ยามากขึ้น


ยาที่ควรระวัง
ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
ยาในกลุ่มนี้ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดข้อ ปวดหลัง ปวดกระดูกซึ่งมีฤทธิ์บรรเทาปวดได้ดีกว่ายาแก้ปวดพาราเซตามอล ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Diclofenac , lbuprofen , Ponstan , Piroxicam, Celebrex และArcoxia เป็นต้น ยากลุ่มนี้สามารถแก้ปวดและลดการอักเสบโดยยับยั้งการสร้างสารโพรสตาแกลนติน(Prostagiandin) ซึ่งสารนี้ มีหน้าที่ ช่วยควบคุมการไหลเวียนของเลือดในไตให้เป็นปกติ ดังนั้นการได้รับยากลุ่มนี้เป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อการไหลเวียนเลือดในไตและส่งผลให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

ยาลูกกลอน สารโลหะหนักและสเตียรอยด์
ยาแผนโบราณเป็นการนำพืชสมุนไพรมาผสมกันในสัดส่วนที่พอเหมาะแล้วต้มในหม้อดินอาจเรียกในชื่อต่างๆกัน เช่น ยาหม้อ ยาสมุนไพรซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบของยาในลักษณะยาลูกกลอน ยาผง ยาอัดเม็ดหรือบรรจุแคปซูล ส่วนมากใช้เพื่อรักษาโรคปวดข้อ ปวดกระดูกจากโรคข้อเสื่อม โรคมะเร็ง หรืออาจใช้เป็นยากระตุ้นให้เจริญอาหาร ปัจจุบันพบว่าในส่วนประกอบของยาลูกกลอน นอกจากพืชสมุนไพรแล้ว ยังพบการเจือปนของสารโลหะหนัก เช่นตะกั่ว ทองแดง ปรอท และสารจำพวกสเตียรอยด์ ซึ่งสารเจือปนเหล่านี้ ถูกตรวจพบมากกว่าครึ่งหนึ่งของชนิดยาลูกกลอนที่จำหน่ายในท้องตลาดสารเหล่านี้ เมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกายติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะเกิดการสะสมในร่างกาย และมีพิษโดยตรงในการทำลายเนื้อเยื่อไต และก่อให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้

ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น กลุ่มซัลฟา
หรือที่เรียกกันว่ายาฆ่าเชื้อ เมื่อรับประทานเข้าไปมักตกตะกอนและเป็นผลึกในท่อปัสสาวะ เช่น กลุ่มซัลฟา เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง
 
ปฎิบัติตัวในการใช้ยาอย่างไรไม่ให้เป็นพิษต่อไต
ใช้ยาตามข้อบ่งชี้ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง
หลีกเลี่ยงการใช้ยาซ้ำซ้อน เพราะยาบางกลุ่มมีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายกันซึ่งการรับประทานร่วมกันไม่ช่วยเพิ่มผลในการรักษา แต่กลับเพิ่มผลเสียต่อผู้ป่วยทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยามากขึ้น เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เป็นต้น
นำยาที่ใช้ประจำติดตัวมาโรงพยาบาลทุกครั้งเมื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ และควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่ใช้ประจำทุกครั้ง เพื่อประกอบการพิจารณาการรักษาของแพทย์ เพราะยาบางกลุ่มอาจทำปฎิกิริยาต่อกัน เช่น อาจเสริมฤทธิ์กันจนทำให้เกิดพิษและอาการข้างเคียงจากยาได้มากขึ้น หรือ ลดฤทธิ์กันทำให้การรักษาไม่ได้ผล