หลอดเลือดแดงใหญ่ (Aorta)
เป็นท่อนำเลือดแดง จากหัวใจไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยเริ่มต้นจากบริเวณขั้วหัวใจ ขึ้นไปยังยอดอกแล้วทอดโค้งไปด้านหลัง เคียงข้างกระดูกสันหลังในช่องอก ผ่านกระบังลมเข้าไปยังช่องท้อง ก่อนจะแยกเป็นเป็นแขนงหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขา 2 ข้าง และอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ความสำคัญของหลอดเลือดแดงใหญ่ คือ เปรียบเสมือนท่อประปาหลัก ที่ให้แขนงหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง ประสาทไขสันหลัง แขน ขา และอวัยวะในช่องท้อง ได้แก่ ตับ ไต ลำไส้ เป็นต้น ดังนั้นหากมีพยาธิสภาพหรือความผิดปกติเกิดขึ้นกับหลอดเลือดแดงใหญ่ย่อมส่งผลกระทบต่ออวัยวะส่วนต่างๆ ได้ หรือ หากหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองปริแตกจะทำให้เสียชีวิตได้
อาการและอาการแสดง
ผู้ป่วยหลายรายอาจไม่มีอาการใดๆ นำมาก่อน เพียงแต่ตรวจพบโดยบังเอิญจากการถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอก หรือ คลำก้อนเต้นหรือกลิ้งได้ในช่องท้อง ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอก อาจมีอาการจากการกดเบียดของหลอดเลือดต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น กดหลอดลม ทำให้หายใจลำบาก กดเบียดหลอดอาหาร ทำให้กลืนลำบาก กดเบียดเส้นประสาทที่เลี้ยงกล่องเสียง ทำให้เสียงแหบ เป็นต้น ถ้ามีอาการแน่นอก ปวดหลัง หน้ามืดหมดสติ หรือไอเป็นเลือด อาจบ่งชี้ว่ามีการปริแตกของหลอดเลือดแดงใหญ่ ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง อาจคลำพบก้อนเต้นหรือกลิ้งได้ในช่องท้อง หรือ มีอาการปวดท้อง ปวดหลัง หากพบมีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะให้การวินิจฉัยได้จากการสอบถามประวัติอาการ ตรวจร่างกายร่วมกับการตรวจค้นเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอก หรือช่องท้อง การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ (Ultrasound) และ การถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan )
ปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค
ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น กลุ่มอาการ Marfan (ซึ่งจะมีความผิดปกติหลายระบบคือ มีรูปร่างสูงผอม แขนขาและ นิ้วยาว เพดานปากสูง สายตาผิดปกติ มีโรคลิ้นหัวใจรั่วร่วม) มักมีอาการของโรคหลอดเลือดตั้งแต่อายุวัยหนุ่มสาว
การสูบบุหรี่ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง
แนวทางการรักษา
เนื่องจากถ้ามีการแตกของหลอดเลือดแดงใหญ่ จะทำให้มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 50 ถึง 90% ความเสี่ยงต่อหลอดเลือดแดงใหญ่แตกมีความสัมพันธ์กับขนาดของหลอดเลือดแดงใหญ่ ยิ่งมีหลอดเลือดขนาดโตยิ่งมีโอกาสแตกง่าย ภาวะความดันโลหิตสูงจะเสริมให้มีโอกาสแตกมากขึ้น ดังนั้น แนวทางการรักษา จึงนับเริ่มตั้งแต่การควบคุมความดันโลหิต การงดสูบบุหรี่ การหลีกเลี่ยงการเบ่งถ่าย รวมจนถึงการผ่าตัดรักษา
การพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย ขนาดหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โตจนเสี่ยงต่อการปริแตก หรือ หลอดเลือดแดงใหญ่ที่โตเร็วผิดปกติ ถ้าตรวจพบหลอดเลือดแดงโป่งพองในขนาดที่ไม่โตมาก แพทย์จะแนะนำให้ตรวจติดตามเฝ้าระวังเป็นระยะ
การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
การผ่าตัดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ เป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องอาศัยทีมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และ สถานที่ที่มีอุปกรณ์การผ่าตัดพร้อมเพรียงรวมทั้งมีความพร้อมในการให้เลือดและส่วนประกอบของเลือด
การผ่าตัดใหญ่แบบเปิด (Open Surgery)
ถือเป็นการผ่าตัดที่เป็นมาตรฐาน โดยผ่าตัดผ่านทางช่องทรวงอก หรือช่องท้อง ขึ้นกับตำแหน่งพยาธิสภาพของหลอดเลือด แล้วใส่หลอดเลือดเทียมทดแทน
การผ่าตัดด้วยวิธีการสอดใส่หลอดเลือดเทียมชนิดหุ้มด้วยขดลวด (Stent Graft)
ผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบเพื่อสอดหลอดเลือดเทียมเข้าไปใส่แทนที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองในช่องอกหรือช่องท้อง เป็นทางเลือกใหม่ ที่เริ่มใช้ในภายหลังเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งการผ่าตัดวิธีหลังนี้จะมีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก ลดอัตราการเสี่ยง และการให้เลือด ผลในระยะสั้นและระยะกลางยังมีประสิทธิภาพดี แต่ต้องติดตามผลระยะยาวต่อไป
การผ่าตัดแต่ละวิธีจะขึ้นกับตำแหน่งพยาธิสภาพของโรค สภาพความแข็งแรงของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาและประเมินเพื่อให้ผู้ป่วยได้ทราบและร่วมในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด
เนื่องจากการผ่าตัดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่เป็นการผ่าตัดใหญ่และส่วนใหญ่ผู้ป่วยสูงอายุ จึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในระบบต่างๆได้ เช่น ระบบหัวใจ ปอด สมอง ไต ซึ่งบางครั้งอาจรุนแรงถึงชีวิต
การประเมินสภาพร่างกายของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรคก่อนการผ่าตัดรวมทั้งการให้ข้อมูลกับผู้ป่วยนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพื่อช่วยให้การวางแผนการรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลศิริราช