รู้จักฟลูออไรด์ป้องกันผุ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

รู้จักฟลูออไรด์ป้องกันผุ

Date : 30 December 2015

หลายคน คงเคยประสบพบเจอกับปัญหาอาการ..ปวดฟัน.. แล้วคุณมีวิธีจัดการกับปัญหาอย่างไร

คำตอบก็คงไม่ต่างกันมากนัก ก็ไปหาหมอฟัน หรือทันตแพทย์ยังไงกันล่ะ แล้วคุณหมอฟันใจดีก็จะทำการตรวจเช็คสภาพฟันของเราว่า ผุ กร่อน เหงือกบวม อักเสบ อย่างไร

แต่สิ่งหนึ่งที่คุณหมอจะต้องคอยบอกและเตือนเป็นประจำทุกครั้งเมื่อไปตรวจฟัน นั่นก็คือ การป้องกันฟันผุ

เมื่อพูดถึงการป้องกันฟันผุ ก็จะนึกถึง “ฟลูออไรด์” กันอย่างแน่นอน แล้วทราบหรือไม่ว่า “ฟลูออไรด์” มีกี่ชนิด และมีวิธีการใช้อย่างไร

ฟลูออไรด์ เป็นสารที่ใช้ในการป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถป้องกันได้ทั้งฟันที่ยังไม่ขึ้นมาในช่องปาก และฟันที่ขึ้นในช่องปากแล้ว
ชนิดของฟลูออไรด์ที่นำมาใช้ในทางทันตกรรมนั้น มีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่

1) ฟลูออไรด์ชนิดรับประทาน
2) ฟลูออไรด์เฉพาะที่

ฟลูออไรด์ชนิดรับประทาน

ฟลูออไรด์ชนิดรับประทาน อาจเป็นฟลูออไรด์ที่คนไทยส่วนใหญ่มักไม่ทราบ เพราะสามารถพบฟลูออไรด์ได้ในน้ำดื่ม หรือ น้ำประปา ซึ่งข้อมูลรายงานจากต่างประเทศส่วนใหญ่ มักแสดงให้เห็นว่า มีการเติมฟลูออไรด์ลงไปในน้ำดื่ม ซึ่งให้ผลดีต่อประชากรในประเทศ

แต่ฟลูออไรด์ชนิดรับประทาน ยังมีอีกในรูปแบบอื่นๆ ที่มักพบส่วนใหญ่ ได้แก่
1. ฟลูออไรด์ชนิดเม็ด
2. ฟลูออไรด์ชนิดน้ำ

ซึ่งถือเป็นฟลูออไรด์เสริม ในประเทศไทยเราเอง สามารถพบฟลูออไรด์ได้ทั้ง 2 ชนิด

แต่ฟลูออไรด์ชนิดน้ำ มักเป็นฟลูออไรด์ผสมวิตามิน ซึ่งทันตแพทย์จะทำการจ่ายฟลูออไรด์เสริมชนิดนี้ ให้ในเด็กตั้งแต่อายุ 6 ปี ถึง 16 ปี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขนาดของฟลูออไรด์เสริมที่เด็กควรได้รับ จะขึ้นอยู่กับปริมาณของฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม และปัจจัยในเรื่องอายุของเด็ก

ทันตแพทย์จะเป็นผู้ทำการสั่งจ่ายฟลูออไรด์ชนิดนี้ โดยคำนึงถึงปัจจัยที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว หากเด็กได้รับปริมาณฟลูออไรด์มากเกินไป ก็อาจมีผลเสียต่อฟันของเด็กได้ เช่น เกิดฟันตกกระ เป็นต้น

ฟลูออไรด์ชนิดเฉพาะที่

ฟลูออไรด์ชนิดเฉพาะที่ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

1. ฟลูออไรด์ที่ทันตแพทย์เคลือบให้ในเด็กปกติ ซึ่งมักได้ยินกันว่า ควรได้รับการเคลือบฟลูออไรด์ทุกๆ 6 เดือน แต่ในบางกรณี เด็กมีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุได้ง่าย ทันตแพทย์จึงอาจพิจารณาเพิ่มความถี่ในการเคลือบฟลูออไรด์ให้บ่อยขึ้น

2. ฟลูออไรด์ที่ผสมในยาสีฟัน หรือ น้ำยาบ้วนปาก ซึ่งยาสีฟันที่ใช้กัน และหาซื้อได้ตามท้องตลาด มีฟลูออไรด์อยู่ที่ 1,000 ถึง 1,500 ส่วนในล้านส่วน ยาสีฟันสำหรับเด็กมีปริมาณฟลูออไรด์ต่ำกว่า 1,000 ส่วนในล้านส่วน
ซึ่งในเด็กเล็ก ผู้ปกครอง ควรดูแลเรื่องปริมาณยาสีฟันที่เด็กใช้ ให้มีขนาดเท่ากับเม็ดถั่วเขียว หรือเพียงแตะๆ แปรงสีฟันเท่านั้น เพราะถ้าเด็กกลืนยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ทุกๆ วัน ทำให้ได้รับปริมาณที่มากเกินไป จนอาจเกิดอาการฟันตกกระ ดังที่กล่าวมาข้างต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก งานทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล