โรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตัน | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

โรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตัน

Date : 5 January 2016

โรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตัน หมายถึง ภาวะที่หลอดเลือดแดงมีการตีบแคบ หรือ อุดตัน ส่งผลให้อวัยวะที่อยู่ส่วนปลายกว่าส่วนที่ตีบตัน มีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอก่อให้เกิดอาการของขา ขาดเลือด สาเหตุ

1. ผนังหลอดเลือดแดงมีแผ่นไขมันและ/หรือหินปูน พอกหนาตัวขึ้น ส่งผลให้รูตรงกลางตีบแคบลง

2. ภาวะลิ่มเลือดหลุดจากหัวใจหรือหลอดเลือดแดง ใหญ่ในช่องอกหรือช่องท้องมาอุดตันที่หลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ขา

อาการ

- ชนิดเฉียบพลัน เกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดขาขึ้นมาทันทีและจะมีอาการปวดขาตลอดเวลาแม้ในขณะร่างกายได้มีการพักผ่อน อาจจะมีอาการของเหน็บชาร่วมด้วยและอาจตรวจพบผิวหนังซีด เย็น กล้ามเนื้ออ่อนแรงและไม่สามารถจับชีพจรบริเวณข้อเท้าไม่ได้

- ชนิดเรื้อรัง เกิดนานกว่า 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดขาเวลาเดิน บางรายอาจมีอาการปวดเท้ามากขณะที่ร่างกายมีการพักผ่อนโดยเฉพาะในเวลาตอนกลางคืน อาจตรวจพบว่าเท้ามีสีคล้ำลง ผิวหนังรอบแผลมีสีดำไม่สามารถจับเส้นชีพจรบริเวณข้อเท้าได้ ผิวหนังซีดและเย็น รวมไปถึงอาการนิ้วเท้าเน่าตายแผลเรื้อรังที่ไม่หาย

การรักษา

- ชนิดเฉียบพลัน ทำได้โดยการผ่าตัดขจัดลิ่มเลือด

- ชนิดเรื้อรัง การผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินทางเดินหลอดเลือดแดงและการรักษาผ่านทางสายสวนหลอดเลือดแดง

การปฏิบัติตัวเมื่อใช้ยาต้านอาการแข็งตัวของลิ่มเลือด

  1. รับประทานยาตามคำสั่งการรักษา
  2. หากลืมรับประทานยามื้อใดมื้อหนึ่งภายใน 12 ชั่วโมง สามารถรับประทานยามื้อที่ลืมได้ทันที
  3. ถ้าลืมรับประทานยาเกิด 12 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานยามื้อที่ลืม แต่สามารถรับประทานยามื้อต่อไปตามปกติในเวลาและขนาดเท่าเดิม
  4. ถ้ามีเลือดออกตามไรฟัน อุจจาระสีดำ บาดแผลมีเลือดออกมาก ผิวหนังมีจุดจ้ำเลือด ปัสสาวะสีเข้ม ให้หยุดรับประทานยาและควรมาพบแพทย์ทันที
  5. ถ้าถอนฟันต้องแจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์ทุกครั้งว่ากำลังรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  6. รับการตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อเจาะเลือดดูระดับยาในเลือดและปรับขนาดของยา
  7. ไม่ควรซื้อยามาประทานเองแต่ควรมาพบแพทย์เมื่อยาหมดก่อนกำหนด

การดูแลตนเองขณะอยู่บ้าน

  1. งดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด
  2. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต และระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติในรายที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงหรือระดับไขมันในเลือดสูงโดยลำดับ
  3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัด รสเค็มจัดและปริมาณไขมันสูง
  4. ไม่นั่งไขว่ห้างเพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
  5. ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่องครึ่งชั่วโมงต่อวัน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
  6. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  7. รับการตรวจสุขภาพประจำปี หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน เพราะสามารถเกิดซ้ำได้อีกแม้จะได้รับการรักษาแล้ว
  8. ทำจิตใจให้สบายหลีกเลี่ยงภาวะเครียด

ที่มา โครงการสอนสุขศึกษาในหอผู้ป่วย ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช