โรคอีสุกอีใส | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

โรคอีสุกอีใส

Date : 12 January 2016

โรคนี้มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งชื่อ Varicella zoster virus (VZV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับโรคงูสวัด ถ้าได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้ครั้งแรก ร่างกายจะแสดงอาการของโรคอีสุกอีใสออกมา แต่ถ้าเป็นครั้งที่ ๒ ซึ่งมักเป็นในผู้สูงอายุหรือผู้ที่ร่างกายอ่อนเพลียอย่างมาก จะแสดงอาการของโรคงูสวัดออกมา

โรคอีสุกอีใสติดต่อกันอย่างไร
เชื้อโรคชนิดนี้สามารถติดต่อถึงกันได้ ด้วยการสัมผัส ไอ จาม หายใจรดกัน และการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าห่ม ที่นอน เป็นต้น

โรคอีสุกอีใสมีอาการอย่างไร
โรคนี้มีระยะฟักตัวประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ หรือเมื่อได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้มาจากผู้ป่วยแล้ว อีก ๒-๓ สัปดาห์ ผู้ที่ได้รับเชื้อจึงจะเริ่มมีอาการของโรค อาการเริ่มต้นของโรคนี้จะคล้ายกับไข้หวัด คือจะมีอาการไข้ต่ำๆ ปวดหัว ตัวร้อน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หลังจากนั้นอีก ๑-๒ วัน จะเริ่มมีผื่นแดงราบขึ้นตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ใบหน้า และลำตัว เป็นต้น ต่อมาผื่นแดงราบนี้จะค่อยๆ นูนขึ้นเป็นตุ่มนูน และกลายเป็นตุ่มน้ำใส ขนาดประมาณเท่าถั่วเขียว และมีอาการคันร่วมด้วย โรคนี้จะทำให้มีผื่นขึ้นเป็นระลอกๆ ดังนั้น เมื่อเป็นสักระยะหนึ่ง จึงสังเกตพบรอยโรคเกือบทุกระยะพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็น ผื่นแดงราบ ตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส แผลที่เกิดจากการแตกของตุ่มน้ำใส และแผลตกสะเก็ด ทำให้คนไทยเรียกโรคนี้ว่า อีสุกอีใสž เพราะจะพบรอยโรคที่ผิวหนังทั้งตุ่มสุกและตุ่มใสขึ้นพร้อมกันนั่นเอง ในบางคนอาจพบผื่นแดงราบพร้อมๆ กับมีไข้ต่ำๆ ปวดหัวได้ หรือในบางคนอาจพบแต่ผื่นแดงราบ โดยที่ไม่มีไข้เลยก็ได้

โรคอีสุกอีใสพบได้บ่อยในวัยใด
ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส จะเป็นเด็กที่มีอายุน้อยกว่า ๑๐ ขวบ แต่ก็อาจพบได้ในเด็กโต วัยรุ่น หรือในผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังพบว่า อาการโรค อีสุกอีใสที่พบในเด็กจะมีอาการความรุนแรงน้อยกว่าในเด็กโต วัยรุ่น และในผู้ใหญ่

จะหลีกเลี่ยงการเป็นโรคอีสุกอีใสได้อย่างไร
เนื่องจากระยะที่มีการติดต่อได้เริ่มตั้งแต่เริ่มมีอาการไข้ จนออกผื่นแดงราบ แล้วกลายเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส แตก ตกสะเก็ด จนแผลหายดี จะใช้ระยะเวลาอยู่ประมาณ ๑-๓ สัปดาห์ (ซึ่งจะหายได้เอง) ในระยะนี้เป็นระยะที่ติดต่อถึงคนอื่นได้ จึงควรหยุดเรียน หยุดงาน พักอยู่กับบ้าน จนกว่าตกสะเก็ดหรือหายดีแล้ว จึงควรจะเริ่มไปเรียนหนังสือ หรือทำงานตามปกติ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะไปติดต่อให้ผู้อื่นเป็นโรคนี้ได้

ควรดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอีสุกอีใสนี้อย่างไร
เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่หายได้เอง และมักเป็นไม่รุนแรงในเด็ก ดังนั้น ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็กก็อาจรักษาตามอาการ และดูแลสุขอนามัยที่ดี เช่น ถ้าเด็กเป็นไข้ ปวดหัว ก็แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอล ถ้ามีอาการคัน อาจใช้ยาคาลาไมน์โลชั่นทาบริเวณที่เป็น ผื่นตุ่ม หรือยาแก้แพ้คลอร์เฟนิรามีน (ยาแก้แพ้เม็ด สีเหลือง) กินเพื่อบรรเทาอาการคันได้ และไม่ควรแกะเกาตุ่มหรือแผล เพื่อให้แผลหายได้เองและป้องกันภาวะการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดรอยแผลเป็นได้ กรณีที่เป็นเด็กโต วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ เมื่อเป็นแล้วอาจมีอาการรุนแรงและอาจทิ้งรอยแผลเป็นดำบุ๋มอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งอาจพิจารณาเลือกใช้ยาต้านไวรัส ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์และผู้ป่วยร่วมกัน

ยาต้านไวรัสโรคอีสุกอีใส
ยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสที่ได้ผลดีในปัจจุบันมี ๓ ชนิด คือ อะไซโคลเวียร์ (acyclovir), เฟมไซโคลเวียร์ (famciclovir), และ วาลาไซ-โคลเวียร์ (valaciclovir) ในอดีตยากลุ่มนี้มีราคาค่อนข้าง สูง แต่ในปัจจุบันมีผู้ผลิตจำนวนมากทำให้ราคาลดลงมามาก จึงสามารถเลือกใช้ได้ตามเศรษฐฐานะของ ผู้ป่วยได้  การเริ่มต้นใช้ยากลุ่มนี้ ควรใช้ให้เร็วที่สุด (ภายใน ๒๔-๔๘ ชั่วโมงของการเริ่มมีอาการ) ก่อนที่ไวรัสจะหยุดการเพิ่มจำนวน จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ในทางปฏิบัติจึงไม่แนะนำให้ใช้ยาต้านเชื้อไวรัส ถ้าตุ่มน้ำใสแตกออกเป็นแผลหมดแล้ว เพราะว่าไวรัสได้หยุดการเพิ่ม จำนวนแล้ว การใช้ยาจะไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อผู้ป่วย เมื่อตุ่มน้ำใสแตกเป็นแผลเปิด ก็ควรดูแลแผลให้ถูกสุขอนามัยที่ดี เพื่อให้แผลหายได้เร็ว ปราศจากการติดเชื้อแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย และไม่เกิดแผลเป็น แต่ถ้ามีการแกะเกาสะเก็ดหรือเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนจากแบคทีเรียร่วมด้วย จะเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดเป็นแผลเป็นได้

ควรใช้ยาเขียวในโรคอีสุกอีใสหรือไม่
เนื่องจากโรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่หายได้เอง และเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การเลือกใช้ยาเขียวตาม ภูมิปัญญาไทยไม่ถือเป็นข้อห้ามหรือเกิดผลเสียต่อการรักษาโรคนี้ ซึ่งอาจจะเลือกใช้ร่วมกับการรักษาตาม ปกติได้ นอกจากนี้ ยาเขียวยังช่วยให้ดื่มน้ำได้มากขึ้นอีกด้วย

วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส
ด้วยความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ทำให้ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ดี และแนะนำให้ใช้ใน ผู้ป่วยตั้งแต่ ๑ ขวบขึ้นไป ถ้าเด็กอายุต่ำกว่า ๑๓ ปี จะแนะนำให้ฉีดเพียงครั้งเดียว แต่ถ้าอายุตั้งแต่ ๑๓ ปีขึ้นไป จะต้องให้ ๒ ครั้ง ห่างกัน ๔-๘ สัปดาห์ ถึงตรงนี้แล้วคงจะได้คำตอบแล้วนะครับ ว่าควรหลีกเลี่ยงหรือดูแลตนเองอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นโรค อีสุกอีใส ซึ่งสามารถเลือกได้ว่า จะต้องการได้รับวัคซีนหรือไม่ เพราะถ้าย่างเข้าวัยรุ่นแล้วยังไม่เคยเป็นโรคนี้ ก็อาจพิจารณาแนะนำให้ฉีดวัคซีนเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรคนี้ ส่วนในอีกกรณีหนึ่งก็ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ เพื่อลดการติดต่อมาถึงตัวเราได้ หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวข้องกับเรื่องยาและสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรคอีสุกอีใสหรือโรคอื่นๆ ท่านสามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรชุมชน (ที่ประจำอยู่ที่ร้านยา) ที่พร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องสุขภาพแก่ท่านทุกเมื่อ 


 ที่มา ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 322