โรคคาวาซากิ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

โรคคาวาซากิ

Date : 13 January 2016

ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยเด็กๆ  อาจไม่สบายได้ผู้ปกครองควรดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ เนื่องจากมีหลายโรคที่มีอาการใกล้เคียงกันจนแทบจะแยกไม่ออก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โรคคาวาซากิ  ความรุนแรงของโรคสามารถทำให้เด็กเสียชีวิตเฉียบพลันได้ ถึงตอนนี้พ่อแม่ของเด็กทั้งหลายคงอยากทราบสาเหตุของโรคนี้เพื่อความปลอดภัยของลูกหลาน   มาฟังพร้อมๆ กันค่ะ โรคคาวาซากิ พบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง  แต่ส่วนใหญ่จะพบในเพศชายมากกว่า และพบบ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า  5 ปี   โดยเฉพาะในช่วงอายุ  1 - 2 ปี  โรคนี้ตั้งชื่อตามนายแพทย์คาวาซากิ  ซึ่งเป็นแพทย์ชาวญี่ปุ่นที่ได้รวบรวมรายงานผู้ป่วยเป็นคนแรกของโลก สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด เคยมีรายงานว่าเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อบางชนิดทั้งแบคทีเรียและไวรัส  การใช้แชมพูซักพรม  หรือการอยู่ใกล้แหล่งน้ำ   แต่ไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แท้จริง  พบว่ามีการอักเสบเกิดขึ้นหลายแห่งในร่างกาย  ทำให้เกิดอาการแสดงต่าง ๆ   ประมาณร้อยละ 25 ของผู้ป่วย   เกิดการอักเสบของหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจร่วมด้วย  หากให้การวินิจฉัยและรักษาได้ภายใน  10  วัน นับจากมี
ไข้ จะช่วยให้การอักเสบของหลอดเลือดลดลงประมาณร้อยละ 5 ลักษณะเด่นของโรคคาวาซากิ  

          1. เด็กจะมีไข้สูงทุกคน   โดยมากมักเป็นนานเกิน  5  วัน  บางรายอาจนาน 3 – 4 สัปดาห์อาจมีผื่นขึ้นตามตัวและแขนขา  
          2. ตาขาวจะแดง  2  ข้าง  แต่ไม่มีขี้ตา 
          3. ริมฝีปากแห้งแดง  อาจแตกมีเลือดออก  ลิ้นแดงเป็นตุ่ม ๆ คล้ายผิวสตรอเบอร์รี่  
          4. ฝ่ามือและฝ่าเท้าบวมแดง  ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอโต  


             อาการทั้งหมดนี้จะเกิดภายในสัปดาห์แรก  ในสัปดาห์ที่  2  จะมีการลอกของผิวหนัง  โดยเริ่มจากบริเวณปลายนิ้วมือ  นิ้วเท้า  และอาจลามไปที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อาการแสดงอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วม  ได้แก่  ข้ออักเสบโดยเฉพาะบริเวณนิ้วมือ  เยื่อหุ้มสมองอักเสบ  ท้องเสีย  ซึ่งอาการดังกล่าวอาจหายได้เองแม้ไม่ได้รับการรักษา แต่ที่สำคัญคือ โรคนี้อาจทำให้เกิดการอักเสบของหัวใจและหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ  ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดหัวใจมีลักษณะโป่งพอง  ตีบหรือแคบได้   ในรายที่หลอดเลือดตีบแคบมาก   อาจเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลี้ยงเหมือนที่พบในผู้ใหญ่ที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบ  ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้  เนื่องจากการวินิจฉัยต้องอาศัยอาการเป็นหลักร่วมกับการตรวจเลือด  ซึ่งอาการแสดงมักเกิดไม่พร้อมกัน  จึงทำให้เกิดความยากในการวินิจฉัยหากไม่ได้นึกถึงโรคนี้ 


          การรักษาในช่วงที่มีไข้ใน 10 วันแรก  จะต้องตรวจหัวใจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ด  เพื่อดูลักษณะหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ  และให้ยาลดการอักเสบคือ  ยาแอสไพรินขนาดสูงให้รับประทานอย่างต่อเนื่องประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ และให้โปรตีนชนิดหนึ่งเข้าหลอดเลือดดำ  พบว่าหลังให้ยาดังกล่าว   ไข้มักจะลดลงภายใน  24 - 48  ชั่วโมง  หลังจากไข้ลดจะต้องให้ยาแอสไพรินขนาดต่ำวันละ  1  ครั้ง  รับประทานต่อเนื่อง 6 – 8 สัปดาห์  เพื่อป้องกันเกร็ดเลือดรวมกันเป็นก้อน  ซึ่งอาจไปเพิ่มการอุดตันในหลอดเลือดที่ผิดปกติได้  หลังจากนั้นถ้าตรวจอัลตราซาวน์ดหัวใจซ้ำพบว่า  หลอดเลือดหัวใจปกติก็สามารถหยุดยาได้  และจากการติดตามผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดผิดปกติหลัง  8  สัปดาห์นับตั้งแต่มีไข้ไปจนถึงเวลา 1 ปีหลังจากนั้น    พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยจะหายเป็นปกติ  ที่เหลือ 1 ใน 3  ยังมีความผิดปกติอยู่  ต้องติดตามเป็นระยะ  และรับประทานยาแอสไพรินเป็นประจำไปตลอด 
          
ที่มา ศ.พญ.ดวงมณี  เลาหประสิทธิพร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล