ทดแทนฟันแท้ด้วย“ฝังรากฟันเทียม” | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

ทดแทนฟันแท้ด้วย“ฝังรากฟันเทียม”

Date : 14 January 2016

     การที่จะใส่ฟันเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องผ่านกระบวนการ “ฝังรากฟันเทียม” ซึ่งเป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้ร่วมกับการใส่ฟันเทียม ซึ่งเริ่มมีการใช้ครั้งแรกประมาณ 30 ปีก่อน โดย Dr.Branemark เป็นผู้ค้นพบคนแรก สำหรับประเทศไทยนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้นในช่วง 2-3  ปีที่ผ่านมา ที่งานทันตกรรม รพ.ศิริราชได้เริ่มทำการรักษาด้วยการฝังรากฟันเทียมมาระยะหนึ่งแล้วโดยภายหลังการถอนฟันจำเป็นต้องบูรณะด้วยฟันเทียมเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบดเคี้ยว ป้องกันฟันล้มเอียง ฟันห่าง และทำให้เกิดความสวยงาม การบูรณะด้วยฟันเทียมในแบบเดิมจะมีผลต่อฟันข้างเคียงรวมทั้งมีการละลายของสันกระดูกตามมา  ส่งผลให้เกิดฟันผุได้ง่าย เป็นโรคปริทันต์ และฟันเทียมหลวมเมื่อใช้งานไประยะหนึ่งดังนั้นการฝังรากฟันเทียมจะเข้ามามีบทบาทในการป้องกันปัญหาเหล่านี้ด้วย 

การรักษาด้วยรากฟันเทียมจะใช้เพื่อ

· ทดแทนฟันแท้ที่ถอนไป

· เป็นหลักยึดให้กับสะพานฟันเพื่อลดการใส่ฟันปลอมบางส่วนชนิดถอดได้

· เป็นหลักยึดฟันปลอมทั้งปากเพื่อให้มีเสถียรภาพและความสะดวกสบายในการบดเคี้ยว 

     นอกจากนี้ยังเป็นการลดการบาดเจ็บของฟันในตำแหน่งข้างเคียงกับบริเวณช่องว่างที่จะทำการใส่ฟันเทียมหรือฟันที่ต้องรับตะขอ โดยบริเวณที่จะทำการฝังรากฟันเทียมต้องมีความหนาของกระดูกและมีเนื้อเหงือกมากเพียงพอ  ผู้ที่มารับการรักษาจึงต้องมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง  ไม่มีโรคประจำตัวที่มีผลต่อการสร้างกระดูกและเนื้อเยื่อ  สุขภาพช่องปากแข็งแรง  มีสุขอนามัยภายในช่องปากที่ดี  และต้องไม่มีสุขนิสัยที่ไม่ดีต่อฟัน เช่น นอนกัดฟันอย่างรุนแรง ที่สำคัญต้องไม่สูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะลดผลสำเร็จของการรักษาอย่างมาก

 ข้อดีของการฝังรากฟันเทียม                

     ฟันเทียมจะไม่มีการทำอันตรายต่อฟันและเหงือกในบริเวณข้างเคียง  ลดการละลายของสันกระดูกที่รองรับฟันปลอม ทำความสะอาดช่องปากได้ง่ายทำให้มีสุขภาพช่องปากที่ดี เกิดความสะดวกสบายในการบดเคี้ยวหรือออกเสียง จึงเกิดความมั่นใจในการพูด ยิ้ม  และเสริมให้มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้นด้วย  ฟันเทียมมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้นเมื่อเทียบกับการใช้ฟันเทียมชนิดดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจะมีการบาดเจ็บเล็กน้อยจากการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม หรือการปลูกกระดูกเพื่อรองรับรากฟัน และอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น มีการอักเสบรอบ ๆ รากฟันเทียมภายหลังการใส่ฟันเทียม เนื่องจากบริเวณรอบๆฟันเทียมไม่ได้รับการทำความสะอาดที่ดีพอ  เป็นผลให้มีการละลายของกระดูกรอบ ๆ รากฟันเทียม  เหงือกร่นและรากฟันเทียมโผล่มาให้เห็นในช่องปากได้ อีกทั้งการรักษายังมีหลายขั้นตอน  ใช้ระยะเวลานานประมาณ 6 เดือนจึงจะได้ใส่ฟันเทียมได้ ที่สำคัญยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

ที่มา ทพญ.จินดา  ลีลารัศมีงานทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล