การเกิดของหินน้ำลายและคราบจุลินทรีย์
หินน้ำลายมีต้นกำเนิดจากแผ่นคราบจุลินทรีย์หรือชื่ออีกหลายชื่อเช่นPlaque,bacterial plaque เจ้า Plaque จะถูกแร่ธาตุในน้ำลายที่อยู่ในช่องปากจับตัวตกตะกอนแข็งตัวเป็นหินน้ำลายที่เกาะแน่นกับผิวฟัน ซึ่งเราอาจพบทั้งที่อยู่เหนือเหงือกและใต้เหงือก
จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนมนุษย์จำเป็นต้องได้รับอาหารซึ่งก็คือน้ำตาลจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปเพื่อสังเคราะห์พลังงานแล้วผลผลิตที่ได้ก็คือสารพิษและกรดซึ่งจะเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ โดยสารพิษจะก่อให้เกิดเหงือกอักเสบ ส่วนกรดก็จะกระตุ้นให้กระบวนการเกิดฟันผุเริ่มขึ้นที่ผิวเคลือบฟัน คราบจุลินทรีย์เมื่อเริ่มเกิดใหม่ๆจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จำเป็นต้องใช้สารย้อมสีจึงจะเห็นได้ว่าคราบจุลินทรีย์เกาะตามบริเวณคอฟัน,ผิวฟันและเหงือก ในกรณีที่คราบจุลินทรีย์มีความหนาๆจึงจะมองเห็นได้และรู้สึกได้เมื่อใช้ลิ้นสัมผัสไปตามพื้นผิวฟัน
ความสำคัญในการขูดหินน้ำลาย
พื้นผิวของหินน้ำลายที่เกาะกับผิวฟัน จะมีคราบจุลินทรีย์หรือ Biofilm ปกคลุมซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการทำให้เกิดเหงือกอักเสบ หินน้ำลายจะเกาะแน่นกับผิวฟันต้องอาศัยการขูดหินน้ำลายและการเกลารากฟันโดยทันตแพทย์ ทันตแพทย์จะขูดหินน้ำลายที่อยู่ใต้เหงือกและเหนือเหงือก ส่วนหินน้ำลายที่เกาะลึกอยู่ใต้เหงือก จะต้องอาศัยการเกลารากฟันเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถกำจัดหินน้ำลายใต้เหงือกได้อย่างหมดจดและทำให้รากฟันเรียบขึ้น การเกลารากฟันยังช่วยกำจัดจุลินทรีย์และสารพิษที่แทรกซึมอยู่กับผิวรากฟันที่อยู่ลึกๆด้วย การขูดหินน้ำลายและการเกลารากฟันจำเป็นต้องใช้เวลาครั้งละ 20-30 นาที ในระยะที่มีการอักเสบของเหงือกมากและหินน้ำลายมากอาจต้องใช้เวลามากกว่านี้ และคนไข้ในบางรายอาจได้รับการนัดหมายการรักษามากกว่า 1 ครั้ง เมื่อการรักษาครั้งแรกสิ้นสุด ทันตแพทย์จะนัดหมายผู้ป่วยกลับมาเพื่อประเมินผลการรักษาและการดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากคนไข้ หลังจากนั้นอีก 4-6 อาทิตย์ในกรณีที่ยังคงมีการอักเสบของเหงือกโดยดูจากลักษณะรูปร่าง,สีและความลึกของร่องลึกปริทันต์และสภาวะเลือดออกง่ายหลังจากการแปรงฟัน ทันแตพทย์อาจพิจาณาทำการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันซ้ำอีกครั้ง การอักเสบรุนแรงของเหงือกที่มีผลทำให้เกิดการทำลายของกระดูกรอบรากฟัน อาจต้องอาศัยการผ่าตัดเหงือกร่วมด้วยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์ผู้รักษา
ผลข้างเคียงของหินน้ำลาย มีหลายอย่างได้แก่
1. เลือดออกขณะแปรงฟัน
2. เหงือกบวมแดง
3. มีกลิ่นปาก ในกรณีอาการรุนแรง ก็จะมีอาการน้อยลง
4. เหงือกร่น
5. มีหนองออกจากร่องเหงือก
6. ฟันโยก
7. ฟันเคลื่อนออกจากกัน
ผู้ป่วยที่มีปัญหาเลือดหยุดยากกับการขูดหินน้ำลาย
ควรปรึกษาแพทย์โรคเลือดเพื่อแพทย์จะได้ปรึกษาและทำการวางแผนการรักษาร่วมกับทันตแพทย์ ผู้ป่วยที่ได้รับยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้าอาจต้องหยุดยาดังกล่าวก่อนผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบการแข็งตัวของเลือดอาจต้องให้เลือด,ส่วนประกอบของเลือดหรือสารทดแทนก่อนที่จะทำการขูดหินน้ำลายหรือเกลารากฟัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาแทรกซ้อนหรือภาวะเลือดไหลไม่หยุด
การป้องกันการเกิดหินน้ำลาย มี 2 วิธีคือ
1. การใช้สารเคมีหรือน้ำยาบ้วนปากในท้องตลาดปัจจุบันมีหลายชนิดและยี่ห้อซึ่งจะมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกันไป แต่แท้ที่จริงแล้วการใช้น้ำยาบ้วนปากจะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีการพิการทางมือหรือไม่สามารถแปรงฟันได้ปกติ หรือผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดในช่องปาก เช่นผ่าฟันคุด, ผ่าตัดเหงือก น้ำยาบ้วนปากบางชนิดเมื่อใช้ในระยะยาวอาจทำให้ผลแทรกซ้อนตามมาเช่นเกิดคราบฟันดำจากตัวยา ภาวะสมดุลของจุลินทรีย์ในช่องปากเสียไปทำให้จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดเกิดโรคเพิ่มจำนวนมากผิดปกติ ดังนั้นทันตแพทย์จึงไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากในคนที่สามารถแปรงฟันได้ตามปกติ
2.การแปรงฟันและการทำความสะอาดบริเวณซอกเหงือก การแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งคือตอนเช้าและก่อนนอน และการแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อจะเป็นสิ่งที่ดีมาก การทำความสะอาดบริเวณซอกเหงือกอุปกรณ์เสริมได้แก่ไหมขัดฟัน,แปรงซอกฟัน,ปุ่มนวดเหงือก,ผ้าก๊อซ,ไม้กระตุ้นเหงือกการที่จะเลือกใช้อุปกรณ์ชิ้นใดขึ้นอยู่กับคำแนะนำของทันตแพทย์ นอกจากนั้นการหลีกเหลี่ยงการทานอาหารจุกจิกระหว่างมื้อและพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งเพื่อตรวจสภาพฟันและเหงือก
ที่มา ทพ.มหิศร วิเศษจัง งานทัตกรรม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล