ตรวจอัลตราซาวดน์ต่างกับแมมโมแกรมอย่างไร | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

ตรวจอัลตราซาวดน์ต่างกับแมมโมแกรมอย่างไร

Date : 19 January 2016

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสองของมะเร็งในเพศหญิง  พบได้บ่อยในคนที่อายุมากที่อยู่ในวัยทองหรือหลังวัยทองไปแล้ว การตรวจพบและรักษามะเร็งในระยะเริ่มแรก ซึ่งมีขนาดเล็กจะมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้สูงกว่ามะเร็งในระยะที่แพร่กระจายแล้ว  ดังนั้นการหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน  และการตรวจแมมโมแกรมและ/หรืออัลตราซาวดน์ เมื่อถึงวัยอันควร จะทำให้มีโอกาสพบมะเร็งขนาดเล็กได้เร็วขึ้น แต่หากมีปัญหาเรื่องของการมีก้อนที่เต้านม  มีแผลที่หัวนม  หรือมีน้ำไหลออกจากหัวนม (มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการเจ็บ) ควรมา พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติในเต้านมหรือไม่  แม้กระทั่งในคนที่ปกติ  ก็อย่านิ่งนอนใจหากอายุมากขึ้น  ความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมก็สูงมากขึ้นเช่นกัน 

     ตรวจหาความผิดปกติของเต้านม เริ่มจากการตรวจเต้านมด้วยการคลำ สุภาพสตรีทุกท่านสามารถคลำเต้านมด้วยตนเองได้ และหากไม่แน่ใจให้แพทย์เป็นผู้คลำเต้านมเพื่อประเมินความผิดปกติ  เช่น พบก้อนที่เต้านมหรือต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรืออาจพบจุดกดเจ็บที่เต้านม  แพทย์ก็จะทำการตรวจทางรังสีเพิ่มเติมด้วยเครื่องแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวดน์   ซึ่งมีข้อแตกต่างดังนี้

     การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) เป็นการตรวจทางรังสีชนิดหนึ่งคล้ายกับการเอกซเรย์ แต่เครื่องตรวจแมมโมแกรม จะเป็นเครื่องเฉพาะที่ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป แต่มีความสามารถในการตรวจที่ละเอียดกว่ามาก  โดยทั่วไปการตรวจแมมโมแกรม จะฉายรูปเต้านมด้านละ 2  รูป  โดยการบีบเนื้อนมเข้าหากัน และถ่ายรูปจากด้านบนและด้านข้างอย่างละหนึ่งรูป  รวมการตรวจแมมโมแกรมในระบบมาตรฐาน 4 รูป ในกรณีที่พบจุดสงสัย อาจมีการถ่ายรูปเพิ่มหรือขยายรูปเพื่อให้เกิดความชัดเจน สิ่งที่แมมโมแกรมสามารถตรวจพบและดีกว่าการตรวจวิธีอื่น ก็คือ สามารถเห็นจุดหินปูนในเต้านม ซึ่งในบางครั้ง มะเร็งเต้านมอาจมีขนาดเล็กมาก คลำไม่พบ  แม้กระทั่งการตรวจอัลตราซาวดน์ก็ไม่พบ สามารถตรวจพบได้ในแมมโมแกรมเท่านั้น  ดังนั้น แมมโมแกรม จึงมีประโยชน์ในการตรวจหามะเร็งเต้านมขนาดเล็ก

การตรวจอัลตราซาวดน์ (ultrasound)
     การตรวจอัลตราซาวดน์ เป็นการตรวจโดยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับเนื้อเยื่อต่างๆ จะสะท้อนกลับมาที่เครื่องตรวจ  ซึ่งจะตรวจจับความแตกต่างของเนื้อเยื่อได้  คล้ายกับการตรวจด้วยเรดาร์ ทำให้สามารถแยกเนื้อเยื่อเต้านมปกติกับก้อนในเต้านมได้       
     นอกจากนี้ ยังสามารถบอกได้ว่าก้อนที่พบในเนื้อเต้านมนั้น มีองค์ประกอบเป็นน้ำ หรือเป็นก้อนเนื้อ ในกรณีที่เป็นน้ำ ก็ค่อนข้างจะสบายใจเพราะไม่เหมือนมะเร็ง แต่หากเป็นก้อนเนื้อ อัลตราซาวดน์ จะช่วยบอกว่าก้อนเนื้อนั้นมีขอบเขตที่ดูเรียบร้อย หรือดูค่อนไปทางเป็นเนื้อร้าย

แมมโมแกรมและอัลตราซาวดน์ดีไปคนละอย่าง

     การตรวจด้วยแมมโมแกรม และอัลตราซาวดน์ มีข้อดีกันคนละอย่าง บางครั้งการตรวจอย่างใดอย่างหนึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่า  แต่บางครั้งการตรวจทั้ง  2 อย่าง จะช่วยเสริมให้การวินิจฉัยโรคได้ดียิ่งขึ้น การตรวจแมมโมแกรม จะมีประโยชน์มากในการตรวจหามะเร็งเต้านม ซึ่งมีขนาดเล็ก เพราะสามารถตรวจได้ตั้งแต่ยังคลำก้อนไม่พบ แต่ประโยชน์นี้ จะใช้ได้ดีในคนที่เริ่มสูงอายุ (มากกว่า 40  ปี) ซึ่งเนื้อเต้านมไม่หนาแน่นมาก การตรวจแมมโมแกรม จะเห็นรายละเอียดได้มาก แต่ในผู้อายุน้อย จะแปลผลแมมโมแกรมยาก และในกรณีที่พบก้อน  ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าก้อนนั้นเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ

     ส่วนการตรวจอัลตราซาวดน์    แม้ว่าจะสามารถตรวจหาจุดหินปูน  ซึ่งเป็นสัญญาณของมะเร็งเต้านม แต่สู้การใช้แมมโมแกรมไม่ได้   ข้อเด่นของการตรวจอัลตราซาวดน์คือ  สามารถใช้ในคนอายุน้อย อีกทั้งยังช่วยวินิจฉัยว่าก้อนต่างๆ ในเต้านมเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อทำให้วางแผนการรักษาได้ง่ายขึ้น และหากจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมแพทย์อาจใช้เข็มเจาะก้อนที่เต้านม   เพื่อนำเซลล์ของเต้านมหรือเนื้อเยื่อเต้านมส่งตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป

 เลือกตรวจวิธีไหนดี
     การจะเลือกตรวจด้วยวิธีใดหรือไม่นั้น แพทย์ผู้รักษาจะใช้อาการและสิ่งที่ตรวจพบจากการตรวจร่างกายเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนสำหรับการตรวจต่อไป แต่ในภาวะที่ไม่มีโรคหรือความผิดปกติใดๆ เลย แนะนำว่า สุภาพสตรีที่มีอายุมากกว่า 40   ปี  ควรตรวจแมมโมแกรม ปีละ 1  ครั้ง เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม

ที่มา รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์  ศัลยแพทย์ด้านศีรษะ คอ เต้านม    คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล