นวัตกรรมการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

นวัตกรรมการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ

Date : 25 January 2016

     ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่ผ่านการรักษาแล้ว มีโอกาสที่จะเกิดการตีบซ้ำได้  แต่ด้วยนวัตกรรมการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีขึ้น
ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีตั้งแต่การให้ยารับประทาน  การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ หรือ บายพาส รวมถึงการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวด  ซึ่งผลการรักษายังมีโอกาสเกิดซ้ำได้อีกโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการตีบของหลอดเลือดหลักที่มีหลอดเลือดแขนงร่วมด้วย
     สำหรับการใช้ขดลวดพิเศษ เพื่อรักษาผู้ป่วยภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบที่มีแขนงร่วมผ่านสายสวนนี้ จะมีการเจาะหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบ ผ่านสายสวนไปยังหลอดเลือดเหมือนๆ กับการรักษาหลอดเลือดทั่วไป    และมีการขยายบอลลูนในตำแหน่งที่ตีบ เพื่อใส่สายสวนพิเศษไปยังหลอดเลือดหลัก ปล่อยขดลวดโดยถอนสายรัดออกช้าๆ ให้ขดลวดดีดตัวออกเองจนกางเต็มที่ หลังจากนั้นใส่ขดลวดชนิดธรรมดา ที่เคลือบยาต้านการตีบซ้ำไปยังแขนงหลักและแขนงรอง แล้วกางขดลวดออกให้ส่วนปลายต่อกันกับขดลวดพิเศษ ซึ่งใช้เวลาในการรักษาประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นผู้ป่วยสามารถกลับบ้านในวันรุ่งขึ้นและสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ
     ขดลวดพิเศษที่ใช้รักษาหลอดเลือดทางแยกนี้  ถักจากโลหะนิตินอลเคลือบด้วยโพลีเมอร์ที่ย่อยสลายตัวเองภายใน 60 - 180 วัน  และเคลือบยาไบโอลิมัส เอ-9  เพื่อยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ที่จะมาซ่อมแซมผนังหลอดเลือดให้ช้าลง ทำให้โอกาสการกลับมาตีบซ้ำหลังการรักษาน้อยลง  ในขณะที่การรักษาแบบเดิมอาจเกิดภาวะตีบซ้ำสูงถึงร้อยละ 25 เพราะขดลวดแบบเดิมไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับหลอดเลือดทางแยกโดยเฉพาะ   ทำให้การรักษามีความยุ่งยากซับซ้อน  และได้ผลการรักษาที่ไม่ดีเท่าที่ควร
     อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่มีแขนงร่วมผ่านสายสวนคือ หลอดเลือดแขนงรองต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 2.5 มม. รวมถึงมุมของหลอดเลือดแขนงหลักและหลอดเลือดแขนงรอง ไม่เกิน 70 องศา ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาคัดกรองความเหมาะสมในการรักษาต่อไป สำหรับการป้องกันภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ สิ่งสำคัญคือ   ลดอาหารที่มีไขมันสูง  ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตัน รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  และตรวจสุขภาพหัวใจในผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป

ที่มา รศ.นพ.ดำรัส  ตรีสุโกศล  ศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ   คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล