โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary artery disease) เป็นโรคที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคนี้คือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของชาวไทยในปัจจุบัน สาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ นั้นยังไม่ชัดเจนแต่จากการศึกษาพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ อายุ และเพศ (เพศชายอายุมากกว่า 45ปี, เพศหญิงอายุมากกว่า 55 ปีหรือวัยหมดประจำเดือน), โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, ภาวะไขมันในเลือดสูงม น้ำหนักตัวมาก, การสูบบุหรี่ และภาวะที่มีสารโฮโมซิสเทอีนในเลือดสูง เป็นต้น
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ประกอบด้วย
1.การรักษาด้วยยา เช่น ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ (ยาอมใต้ลิ้น, ยากลุ่มไนเตรต) ยาลดการจับกันของเกล็ดเลือด (เช่น ยาแอสไพริน) และยาลดระดับไขมันในเลือด เป็นต้น
2.การผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจ หรือการทำบอลลูนขยายหลอดเลือด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่มาก ในปัจจุบันมีการศึกษาเป็นที่ยืนยันแล้วว่า ภาวะที่มีสารโฮโมซิสเทอีนในเลือดสูงมีความสัมพันธ์เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และการให้สารโฟเลต ร่วมกับวิตามินบี 6 และ บี 12 จะช่วยลดภาวะที่มีสารโฮโมซิสเทอีนเลือดสูงได้ สารโฟเลต หรือ กรดโฟลิกหรือโฟลาซิน เป็นสารอาหารจำพวกวิตามินบี ร่างกายต้องการสารโฟเลตวันละ 400ไมโครกรัม ซึ่งสามารถรับประทานได้เพียงพอ ในอาหารประจำวันหากกินหลากหลายครบหมู่ แหล่งของสารโฟเลตสำคัญคือ อาหารจำพวกผักใบเขียว ถั่วเมล็ดแห้ง ส้ม ผักสีเขียว ถั่วลิสง คะน้า แตง เมล็ดทานตะวัน มะเขือเทศ สารโฟเลตนี้มีความสำคัญในการสร้างสารพันธุกรรมในเซลล์ ( DNA,RNA ) การแบ่งตัวของเซลล์ดังนั้นการขาดสารนี้จึงมีผลให้เม็ดเลือดแดงมีความผิดปกติ เป็นโรคโลหิตจางได้ ( megaloblastic anemia ) หากขาดในหญิงตั้งครรภ์จะทำให้การเจริญของหลอดประสาทในทารกไม่สมบูรณ์
(neural tube defect ) นอกจากนี้การขาดสารโฟเลตจะทำให้มีปริมาณสารโฮโมซิสเทอีนในเลือดสูงมากกว่าปกติ และจะพบภาวะที่มีสารโฮโมซิสเทอีนเลือดสูงมากขึ้นถ้ามีการขาดวิตามินบี6 และบี12 ร่วมด้วย ซึ่งภาวะนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว
มีการศึกษาในปัจจุบันที่ยืนยันได้ว่าการให้สารโฟเลตร่วมกับการให้วิตามินบี6 และวิตามินบี12 สามารถลดระดับของสารโฮโมซิสเทอีนในเลือดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และการให้สารโฟเลตปริมาณ 1 กรัมต่อวัน ไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบถึงผลกระทบในระยะยาว จึงยังคงต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องต่อไป และเนื่องจากการศึกษาส่วนมากยังทำในผู้ป่วยจำนวนไม่มากและระยะเวลาไม่นาน แม้ว่ายังไม่มีการแนะนำอย่างเป็นทางการในการให้ใช้สารโฟเลตในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่จากการที่สารโฟเลตสกัดในรูปเม็ดยานั้นเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย และราคามีราคาถูก รวมถึงยังไม่พบผลข้างเคียงในการรักษาใด ๆ แพทย์ทั่วไปจึงนิยมใช้ในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบร่วมด้วย
ที่มา อ.พญ.นันตรา สุวันทารัตน์, รศ.สมพงษ์ องอาจยุทธ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล