การป้องกันอาการสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

การป้องกันอาการสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุ

Date : 29 January 2016

อาการสับสนเฉียบพลันเป็นอย่างไร

            ผู้ป่วยที่มีอาการสับสนเฉียบพลัน จะมีอาการพูดคุยคนละเรื่อง ไม่เป็นเรื่องราว สับสนจับต้นชนปลายไม่ถูก หลงวัน เวลา และสถานที่  มีอาการเห็นภาพหลอนที่คนอื่นไม่เห็น เช่น เห็นญาติผู้ใหญ่ที่เสียไปแล้ว  ผู้ป่วยจะมีสมาธิไม่ดี อาการเกิดขึ้นค่อนข้างเร็วภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือภายในวันสองวัน   บางคนอาการเป็นมากถึงกับปีนเตียง ไม่หลับไม่นอน บางคนลุกมาจุดไฟจะเผาบ้านก็มี  แต่ในผู้สูงอายุบางคนกลับแสดงอาการเป็นการนอนหลับมากขึ้น ซึม  พูดน้อยลง เป็นต้น  อาการนี้มักพบในผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่นๆ  ยิ่งอายุยิ่งมากขึ้นยิ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะเซลล์สมองเริ่มตายมากขึ้น ทำให้ความสามารถของสมองลดลง รองรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของร่างกายได้ไม่ดีเท่าคนหนุ่มสาว ผู้สูงอายุที่รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลร้อยละ 10-20 เกิดอาการนี้ขณะนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล  และถ้าต้องได้รับการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดข้อสะโพก หรือป่วยอาการหนัก โอกาสเกิดอาการนี้ยิ่งสูงขึ้น

สาเหตุเกิดจากอะไร

            อาการสับสนเฉียบพลันถือเป็นภาวะค่อนข้างเร่งด่วนที่ต้องไปพบแพทย์  เนื่องจากเกิดจากความผิดปกติบางอย่างของร่างกายที่ซ่อนอยู่  ไม่ใช่เกิดจากโรคของจิตใจนะครับ  สำหรับความผิดปกติทางกายที่สำคัญที่มักเป็นสาเหตุของอาการนี้ ได้แก่

           1. ยา  ขอยกสาเหตุนี้ขึ้นก่อนเพราะว่าพบได้บ่อยมาก  ยิ่งถ้ารับประทานยาหลายชนิด ยิ่งมีโอกาสเกิดสูง  ตัวอย่างยาที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ ยาลดน้ำมูก  ยาคลายกล้ามเนื้อแก้ปวด ยานอนหลับ ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคพาร์กินสัน เป็นต้น  เพราะฉะนั้นถ้าเพิ่งได้รับยาใดมาไม่นานหรือมีการปรับขนาดยาหรือวิธีการรับประทานก่อนเกิดอาการสับสนเฉียบพลัน  ให้หยุดยาดังกล่าวและปรึกษาแพทย์โดยนำตัวอย่างยาทั้งหมดไปให้แพทย์ดูด้วย อีกกรณีหนึ่งเกิดจากการหยุดยาบางตัวอย่างกะทันหัน เช่น รับประทานยานอนหลับมานานแล้วหยุดทันที  หรือบางคนดื่มเหล้าจัดมานานแล้วหยุดดื่มทันทีจากสาเหตุอะไรก็ตาม  ก็อาจทำให้เกิดอาการสับสนเฉียบพลันได้

           2. โรคติดเชื้อ  ไม่จำเป็นตัองติดเชื้อในสมองนะครับ ติดเชื้อที่อื่นก็ได้ เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อที่ปอด หรือบางคนเป็นหวัดก็สับสนได้ (แต่กรณีหลังนี้มักเกิดในผู้ป่วยที่มีปัญหาของสมองอยู่เดิม)  ผู้ป่วยจะมีไข้และมีอาการของอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ ก็มีอาการปัสสาวะขัด ขุ่น ปัสสาวะบ่อย ปวดบั้นเอว  ถ้าติดเชื้อที่ปอดก็มีไข้ ไอ หอบเหนื่อย เป็นต้น  แต่ถ้าอายุมากแล้วบางทีอาจไม่มีไข้และอาการของอวัยวะที่ติดเชื้อไม่ชัดเจนก็ได้ครับ

           3.  ความผิดปกติของระดับน้ำตาล เกลือแร่ในร่างกาย กรณีนี้มักเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคบางอย่างอยู่เดิม เช่น เป็นโรคเบาหวานแล้วได้ยาเบาหวาน แล้วมีช่วงรับประทานอาหารได้น้อย เกิดมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป หรือผู้ป่วยโรคไตมีระดับเกลือแร่ผิดปกติ เป็นต้น

           4. โรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจวาย หัวใจสูบฉีดเลือดไม่ดี ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ โรคถุงลมโป่งพองมีอาการหอบเหนื่อยมากๆ ร่างกายขาดออกซิเจน สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ หรือเป็นโรคตับแข็งตับไม่สามารถทำลายของเสียในร่างกายทำให้มีของเสียคั่งในสมองได้ เป็นต้น

           5. ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมอยู่เดิม จะยิ่งมีโอกาสเกิดอาการสับสนเฉียบพลันได้ง่าย บางครั้งแค่เปลี่ยนผู้ดูแลหรือย้ายมานอนในโรงพยาบาลก็มีอาการสับสนแล้ว 

การป้องกันอาการสับสนเฉียบพลัน

           1. พยายามให้ผู้ป่วยได้ทำกิจวัตรประจำด้วยตนเอง อย่างเช่น อาบน้ำเอง แต่งตัวเอง ซึ่งการประกอบกิจวัตรประจำวันเองเป็นการกระตุ้นร่างกายและสมอง และยังทำให้ผู้ป่วยไม่สับสนเรื่องเวลาอีกด้วย
           2. พยายามพูดคุยกับผู้สูงอายุบ่อยๆ การถามคำถามเกี่ยวกับความเป็นอยู่  พูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ในครอบครัวและสังคม  พยายามให้ผู้ป่วยได้เคลื่อนไหว  ไม่นอนอยู่แต่บนเตียง  ผู้สูงอายุที่พอจะเดินได้  ญาติควรพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้ลุกเดินไปไหนมาไหน

           3. ในกรณีที่มีปัญหาเรื่องการมองเห็นและการได้ยินให้ผู้ป่วยสวมแว่นสายตาและเครื่องช่วยฟัง เพราะจะทำให้มองเห็นและได้ยินดีขึ้น ทำให้สามารถรับรู้เหตุการณ์รอบตัวได้มากขึ้น 

          4. ถ้าผู้สูงอายุนั้นไม่ค่อยได้ไปไหนมาไหน อยู่แต่ในบ้าน พยายามให้ผู้สูงอายุได้สัมผัสแสงแดดบ้างในช่วงเช้าและเย็น ถ้านอนอยู่แต่บนเตียง ลุกเดินไม่ได้ พยายามเปิดผ้าม่านหน้าต่างหรือเปิดไฟให้สว่างในเวลากลางวันและพยายามหรี่หรือปิดไฟในช่วงกลางคืน

           5. ถ้ามานอนโรงพยาบาล ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการสับสนเฉียบพลัน ควรให้ญาติหรือผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุเป็นประจำได้อยู่เฝ้า และนำอุปกรณ์ เครื่องใช้ประจำตัว เช่น หมอน ผ้าห่ม ของผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาล เพราะผู้ป่วยจะคุ้นเคย 

           6. หานาฬิกาและปฏิทิน วางไว้ในตำแหน่งที่ผู้ป่วยสูงอายุสามารถมองเห็นได้ชัดเจน เพื่อช่วยกระตุ้นเตือนไม่ให้สับสนวันและเวลานอกจากนั้นอาจเปิดวิทยุหรือโทรทัศน์เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการกระตุ้นมากขึ้น  
           7. พยายามให้ผู้ป่วยสูงอายุได้รับการพักผ่อนเพียงพอ หลีกเลี่ยงเสียงและแสงที่รบกวนผู้ป่วยช่วงพักผ่อน เนื่องจากผู้ป่วยสูงอายุที่อดนอนมากๆ บางรายอาจเกิดอาการสับสนได้ 

           8. ควรทบทวนวัน เวลาและสถานที่ให้ผู้ป่วยสูงอายุรับทราบเป็นครั้งคราว

           9. หลีกเลี่ยงการใช้ยาเองควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยาใดๆ

           10. เมื่อมีอาการเจ็บไข้ไม่สบายใดๆ ควรไปรักษาตั้งแต่แรก 

           11. ในกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือต้องได้รับการผ่าตัด ควรได้รับการประเมินจากแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อการเกิดอาการสับสนเฉียบพลันและการป้องกันไว้ด้วย 

           12. กรณีที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล แพทย์และพยาบาลควรอธิบายขั้นตอนการปฏิบัติตัว \ขั้นตอนการตรวจและการรักษาให้ผู้ป่วยฟังเป็นระยะ จะช่วยทำให้ผู้ป่วยคลายความวิตกกังวล ซึ่งอาจนำมาซึ่งอาการสับสนได้

           13. ในกรณีที่เกิดอาการสับสนแล้วให้รีบหยุดยาที่ไม่แน่ใจและนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจเกิดจากความผิดปกติบางอย่างที่เป็นอันตรายต้องรักษาอย่างรวดเร็ว

ที่มา รศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล