เป็นโรคโลหิตจางชนิดหนึ่งที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงที่มีลักษณะผิดปกติ
จึงมีการแตกสลายเร็วกว่าที่มีควรทำให้มีอาการซีดเหลืองเรื้อรัง ผู้ที่มีอาการของโรคนี้จะต้องมีความผิดปกติทางพันธุกรรมมาจากฝ่ายพ่อและแม่
ถ้ารับจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวจะไม่เป็นโรค แต่จะมีความผิดปกติทางพันธุกรรมนั้นแฝงอยู่ในตัว และสามารถถ่ายทอดไปยังลูกหลานต่อไปได้
อาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย
ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียโดยทั่วไปมักจะมีการเจริญเติบโตของร่างกายน้อยกว่าปกติ มีภูมิคุ้มกันต่ำและความหนาแน่นของมวลกระดูกน้อย ดังนั้นอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วยธาลัสซีเมีย คืออาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อปลาทะเล เนื้อไก่ ธัญพืชต่างๆเช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าวกล้อง ข้าวบาเลย์ เป็นต้น อาหารทีมีกรดโฟลิก (Folic acid) สูง เพื่อช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น ตำลึง กะหล่ำ มะเขือเทศ คะน้า ถั่วงอก เป็นต้น อาหารที่มีแคลเซียม แมกนีเซียม และวิตามินดีสูงเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน เช่น ผลิตภัณฑ์นม ใบย่านาง ใบชะพลู ใบแค ใบยอ ผักโขม ใบสะระแหน่ ผักหวาน ฟักอ่อน ใบตำลึง ผักกวางตุ้ง ผลไม้ ได้แก่ ส้มเขียวหวาน มะขามหวาน มะม่วงแก้วสุก นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอ วิตามินอีและวิตามินซีสูง เพื่อช่วยลดภาวะการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกายจากการที่เม็ดเลือดแดงแตกง่าย เช่น มะละกอ ฟักทอง เสาวรส ฝรั่ง มะยม ผักหวาน เป็นต้น
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย
ผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่มีความรุนแรงของโรคมากและปานกลางควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น หอยชนิดต่างๆ สัตว์ที่มีเนื้อแดงเช่น เนื้อวัว เนื้อหมู ผลิตภัณฑ์จากเลือด เครื่องในสัตว์ เมล็ดฟักทอง งาขาว งาดำ ดาร์กช็อกโกแลต ผักกูด ผักกะเพาแดง เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (Heme iron food) ซึ่งร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารดังกล่าวได้ดีกว่าธาตุเหล็กที่พบในพืชต่างๆ (Non-heme iron food) และไม่รับประทานพืชที่มีธาตุเหล็กสูงร่วมกับอาหารที่เพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กจากพืชต่างๆ ได้แก่ อาหารที่มีวิตามินซีสูงเช่น ฝรั่ง มะขามป้อม มะเขือเทศ ส้ม เนื้อสัตว์ และแอลกอฮอล์ ตัวอย่างรายการอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเช่น ขนมจีนน้ำเงี้ยวใส่เลือดหมูและดอกงิ้ว เนื้อวัวแดดเดียว หมูหยอง ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก ออส่วนหอยนางรม หอยแมลงภู่ทอด น้ำพริกกุ้งเสียบ แกงหอยขม กุ้งเต้น ส้มตำไทยใส่กุ้งแห้ง น้ำพริกกะปิกับดอกโสนลวก เป็นต้น นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารที่ลดการดูดซึมธาตุเหล็กจากพืชได้แก่ ชา กาแฟ ผลิตภัณฑ์ที่มีคาเฟอีน นมและผลิตภัณฑ์จากนม น้ำเต้าหู้
ข้อมูลจาก : รายการพบหมอรามา สถานี Rama Channel ช่อง True 50, 571