หลายครั้ง...ที่คนเราประสบปัญหาข้อเท้าพลิกและข้อเท้าแพลง
ข้อเท้าพลิก เป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยที่สุดอย่างหนึ่งของเท้าและข้อเท้า ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในนักกีฬาและคนที่ใช้ข้อเท้ามากกว่าคนปกติ โดยการเดินบนพื้นที่ไม่เรียบ ตกลงมาจากที่สูง หรือแม้แต่การใส่ส้นสูง ก็ล้วนแล้วแต่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลงได้ทั้งสิ้น มีผู้ป่วยจำนวนมากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นข้อเท้าแพลง แต่หลังจากได้รับการรักษาแล้วยังมีอาการเจ็บต่อเนื่องอีกเป็นเวลานาน ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง การบริหารที่ไม่เหมาะสม หรืออาการฉีกขาดที่รุนแรงมาก
อาการบาดเจ็บที่มักเข้าใจผิดว่าข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง
3 ระดับความรุนแรงข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง
ระดับ 1 การบาดเจ็บภายในเส้นเอ็น แบบไม่มีการฉีกขาดให้เห็น
ระดับ 2 มีการฉีกขาดบางส่วนของเส้นเอ็น
ระดับ 3 มีการฉีกขาดแบบสมบูรณ์
ปฐมพยาบาลข้อพลิก ข้อแพลงเบื้องต้น
ทำได้โดยการประคบเย็น ยกเท้าสูง และการทำให้ข้อไม่เคลื่อนไหว อาจพิจารณาให้ใส่เฝือกระยะสั้นๆ หรือใช้อุปกรณ์ประคองข้อเท้าในช่วงแรก ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ แต่ผู้ป่วยที่เป็นนักกีฬาที่ใช้ข้อเท้ามาก อาจต้องพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด
ดูแลข้อเท้า ด้วยการบริหาร
หลังจากข้อเท้าและเส้นเอ็นไม่มีอาการบวม และอาการเจ็บปวดลดลงแล้ว (ประมาณ ½ สัปดาห์หลังบาดเจ็บ) ควรทำการบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเท้า ดังนี้
การยืดกล้ามเนื้อข้อเท้า
3 ท่าง่ายๆ ช่วยยืดกล้ามเนื้อข้อขา
ท่าที่ 1
ยืนโดยใช้มือดันผนัง ก้าวขาที่ต้องการยืดไปด้านหลัง ส้นเท้าติดพื้น ย่อเข่าหน้าจนรู้สึกตึงขาหลัง ทำค้างไว้ประมาณ 30 วินาที ทำซ้ำ 4-5 ครั้ง
ท่าที่ 2
นั่งกับพื้น ใช้ผ้าขนหนูดึงเท้าเข้าหาตัว ในท่าเข่าเหยียด ทำค้างไว้ประมาณ 30 วินาที ทำซ้ำ 4-5 ครั้ง
ท่าที่ 3
ยืดเอ็นร้อยหวาย โดยการยืนที่ขอบบันไดลักษณะดังภาพ ทำค้างไว้ประมาณ 30 วินาที ทำซ้ำ 4-5 ครั้ง
ท่ายืดกล้ามเนื้อรอบข้อเท้า โดยกระดกเกร็งข้อเท้าทุกด้าน
การบริหารความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อเท้า
ท่าที่ 1 ถ่วงถุงทรายที่หลังเท้า
นั่งห้อยขาข้างเตียง กระดกข้อเท้าขึ้น – ลง ทำชุดละ 10-20 ครั้ง ทำซ้ำ 2-3 ชุด
ท่าที่ 2 สายยางคล้องข้างเท้า
ให้คล้องยางด้านนอกกับเสาหรือขาโต๊ะ โดยให้ส้นเท้าเป็นจุดหมุน บิดเท้าออกด้านนอก ทำซ้ำโดยคล้องสายยางทั้งด้านในและด้านหลังเท้า ทำชุดละ 10-20 ครั้งในแต่ละท่า ทำซ้ำ 2-3 ชุดต่อวัน
การบริหารกล้ามเนื้อมัดเล็กรอบข้อเท้า การทรงตัว และการประสานงานของเส้นประสาท
เมื่อข้อเท้ามีความแข็งแรงมากขึ้น (3-4 สัปดาห์) ให้ฝึกยืนบนพื้นที่มีความไม่มั่นคง เช่น กระดานกระดก หรือยืนทรงตัวบนพื้นราบหรือหมอนแข็งๆ นานประมาณ 2-3 นาทีต่อครั้ง ทำซ้ำ 2-3 ชุดต่อวัน
รศ.นพ.อารีศักดิ์ โชติวิจิตร
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางกระดูกสันหลังและการผ่าตัดข้อเทียม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล