ครรภ์แฝด หมายถึง การตั้งครรภ์ที่มีทารกในครรภ์ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
แฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันเรียกว่าแฝดเหมือน และแฝดที่เกิดจากไข่คนละใบได้รับการปฏิสนธิพร้อมๆ กัน
ในสังคมที่มองเห็นเด็กแฝดเป็นเรื่องที่น่ารักน่าสนใจ เมื่อเราเห็นเด็กน่ารัก 2 คน ซึ่งมีใบหน้าและการแต่งตัวเหมือนกัน ก็จะรู้สึกเอ็นดู ปลื้มใจ หรืออิจฉาคุณแม่ของเด็กแฝดทั้งสอง
บางครอบครัวถึงกับขอให้แพทย์ช่วยให้ตั้งครรภ์แฝดด้วยซ้ำไป ซึ่งก็มักจะได้รับคำแนะนำจากสูติแพทย์ให้ความรู้ข้อดีและข้อเสียของการตั้งครรภ์แฝดให้คู่สมรสได้รับทราบ
ทางการแพทย์ถือว่าการตั้งครรภ์แฝดเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งของการตั้งครรภ์
อัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์แฝดสองสูงกว่าในครรภ์เดี่ยว 5 เท่า ซึ่งแฝดเหมือนมีอัตราการเกิดประมาณ 1 ใน 250 ของการคลอด
สมัยก่อนการตั้งครรภ์แฝดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ อาจจะสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์ เช่น มีครอบครัวที่เป็นแฝด ปัจจุบันนี้มีการกระตุ้นรังไข่ให้ได้ไข่หลายๆ ใบในการรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยาก ทำให้มีอัตราของการตั้งครรภ์แฝดเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งร้อยละ 99 ของการตั้งครรภ์แฝดเกิดจากไข่ 2 ใบ
การตั้งครรภ์แฝดมีความเสี่ยงสูงมากกว่าปกติ ได้แก่ภาวะโลหิตจาง เนื่องจากจำนวนทารกในครรภ์เพิ่มขึ้นต้องการอาหารจากมารดาเพิ่มมากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว ท้องของมารดามีขนาดโตมากทำให้มารดาต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้น อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างโดยเฉพาะโครงสร้างกระดูกโค้งงอหรือลำตัวแอ่นมากขึ้นทำให้กล้ามเนื้อสันหลังต้องเกร็งตัวเพื่อรองรับน้ำหนักแทนกระดูกสันหลังมาก มีอาการปวดหลังมากขึ้น
การที่จะต้องมีปริมาณเลือดเพิ่มมากขึ้นในระบบการไหลเวียนโลหิตสำหรับทารกมากกว่าหนึ่งคนในครรภ์มารดา อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนจากภาวะดังกล่าว เช่น ความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์ มือเท้าบวม อาจมีภาวะครรภ์เป็นพิษเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยวและโดยเฉพาะภาวะครรภ์เป็นพิษซึ่งมีความเสี่ยงสูงอาจพบได้ตั้งแต่อายุครรภ์อ่อนๆ ได้มากกว่าครรภ์เดี่ยว พบว่ามีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดและภาวะน้ำเดินก่อนเจ็บครรภ์คลอดเพิ่มขึ้น
ภาวะแทรกซ้อน
ที่เกิดกับทารกมีโอกาสแท้งมากกว่าปกติ โอกาสที่จะเกิดความพิการแต่กำเนิดสูงกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว ความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าปกติมาก น้ำหนักทารกแรกคลอดน้อยเมื่อเทียบกับการตั้งครรภ์เดี่ยว พบภาวะเติบโตช้าในครรภ์ ทารกในครรภ์ทั้งสองมีการเจริญเติบโตที่ไม่เท่ากัน ทำให้มีขนาดต่างกันมาก หรือมีการถ่ายเทเลือดจากแฝดคนหนึ่งไปสู่แฝดอีกคนหนึ่ง ทำให้ทารกคนหนึ่งโตช้าผิดปกติ ส่วนทารกอีกคนหนึ่งตัวโตเกินไปและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะ Twin-twin transfusion syndrome
นอกจากนี้ หลังคลอดแล้วยังอาจเกิดการตกเลือด หรือติดเชื้อหลังคลอดได้มากกว่าในครรภ์เดี่ยว
ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่การพัฒนาการของทารกทั้งทางร่างกายและสมองที่ช้ากว่า เมื่อเทียบกับทารกที่คลอดจากการตั้งครรภ์เดี่ยว บางคนมีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ อาจเป็นเพราะฮอร์โมนที่เพิ่มมากขึ้นและสังเกตว่าท้องโตกว่าปกติและโตเร็วเพราะขนาดของมดลูกโตกว่าที่ควรจะเป็น เช่น อายุครรภ์จริง 3 เดือน แต่มดลูกโตเท่าอายุครรภ์ 4 เดือน เป็นต้น
ในอดีตการวินิจฉัยการตั้งครรภ์แฝดมักทำได้ช้าเมื่อใกล้กำหนดคลอดหรือทราบเมื่อทารกคลอด
ปัจจุบันการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทำให้สามารถวินิจฉัยภาวะดังกล่าวได้รวดเร็ว ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ สามารถวินิจฉัยภาวะตั้งครรภ์แฝดได้อย่างแม่นยำ ผลลัพธ์ออกมาดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะได้มีการกำหนดไว้ว่าเป็นการตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง มีกระบวนการดูแลครรภ์และตรวจครรภ์ที่แตกต่างกว่าครรภ์ปกติ ได้มีการเตรียมตัวเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนเมื่อใกล้คลอดและมีการประเมินและเตรียมตัวก่อนคลอดเพื่อลดอันตรายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ดังนั้น เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์จึงควรไปฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ และหากพบว่าเป็นครรภ์แฝดจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
อาหารการกิน
มารดาที่ตั้งครรภ์แฝดต้องเพิ่มปริมาณการกินอาหาร มากกว่าตั้งครรภ์เดี่ยว อาหารที่ให้พลังงานต้องเพิ่มจากปกติอย่างน้อย 200-300 กิโลแคลอรีต่อวัน ควรเป็นอาหารพวกเนื้อสัตว์ ส่วนจำพวกแป้งและน้ำตาลไม่ต้องมากขึ้น เพราะอาจทำให้อ้วนเกินไปได้ ควบคุมน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ รวมตลอดการตั้งครรภ์ประมาณ 16 กิโลกรัม
ยาบำรุงต่างๆ (เช่น ธาตุเหล็กและกรดโฟลิก) ต้องเพิ่มขนาดจากการตั้งครรภ์เดี่ยวด้วย เช่น ยาธาตุเหล็กแทนที่จะกินวันละเม็ด ก็ต้องกินเป็นวันละ 3 เม็ด พักผ่อนหลับนอนอย่างเพียงพอ อย่าวิตกกังวลจนเกินไป เพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจทั้งมารดาและทารกทั้งหลายในครรภ์
ขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์หมอชาวบ้าน