บุหรี่กับมะเร็งดูเหมือนเป็นของคู่กันที่แยกไม่ออก เกือบทุกคนต่างก็รู้ดีว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปอด แต่คนไทยกว่า 10 ล้านคนก็ยังสูบบุหรี่ต่อไป เมื่อถามนักสูบบุหรี่หลายๆ คนว่าไม่กลัวเป็นมะเร็งหรือ ก็มักจะได้คำตอบว่า สูบมาตั้งนานแล้วไม่เห็นเป็นสักที หรือไม่ก็ สูบแค่วันละมวนสองมวนไม่เป็นหรอก
ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระ ลิ่มศิลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นผู้คลุกคลีกับผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด ได้ให้ทัศนะว่า
“มะเร็งปอดเป็นโรคที่น่ากลัวมาก ทั้งสำหรับแพทย์เองและผู้ป่วย เพราะในระยะแรกของโรคอาจไม่มีอาการ เมื่อมีอาการชัดเจนก็มักจะอยู่ในระยะอันตรายที่ไม่อาจรักษาให้หายได้”
อาการดังกล่าวนั้นมีได้มากมาย เช่น
ในระหว่างปี พ.ศ.2510-2532 ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระ ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเป็นมะเร็งปอดและการสูบบุหรี่ในผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ซึ่งผลการศึกษายืนยันได้ชัดเจนว่า ผู้ชายที่เป็นมะเร็งปอดเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ถึงร้อยละ 92 และในกลุ่มนี้เป็นประเภทสูบจัดถึงร้อยละ 91 ขณะที่มะเร็งปอดในผู้ป่วยหญิงมีส่วนสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ร้อยละ 27
ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้สูบบุหรี่ที่เป็นมะเร็งปอดนั้น มักจะเป็นมะเร็งปอดชนิดร้าย คือ แพร่กระจายเร็วในระยะเวลาอันสั้น ที่สำคัญมักจะเป็นในช่วงอายุระหว่าง 50-60 ปี (ร้อยละ 44 ของผู้ป่วยทั้งหมด) ซึ่งเป็นระยะที่ชีวิตกำลังเจริญก้าวหน้า เป็นที่พึ่งหลักของครอบครัว และเป็นประโยชน์ต่อสังคม ถ้าเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นกับท่านผู้ใด ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียใจและน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
ดูเหมือนคำถามที่หลายๆ คนอยากรู้ คือ ผู้เป็นมะเร็งปอดมีโอกาสหายมากน้อยเพียงใด
ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระ ได้กล่าวว่า มะเร็งปอดเป็นโรคที่รักษายาก และยังมีโอกาสหายจากโรคได้น้อย นายแพทย์แกรห์ม แห่งสหรัฐอเมริกา ทำการผ่าตัด ตัดปอดที่เป็นมะเร็งปอดออกได้สำเร็จเป็นรายแรกของโลก เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2476 (ค.ศ.1933)
การแพทย์ปัจจุบันถือว่าการผ่าตัดเป็นวิธีหลักที่จะช่วยรักษามะเร็งปอดให้หายได้ แต่ผู้ป่วยมักมาถึงแพทย์เมื่อเป็นมากเสียแล้ว ทำให้อัตราการตัดมะเร็งออกได้อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ในบรรดาผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระได้ทำการศึกษาไว้ในระยะ 20 ปีเศษที่ผ่านมา จำนวน 3,050 ราย มีอัตราการตัดมะเร็งออกได้นั้น เฉลี่ยเพียงร้อยละ 8.2 ยิ่งกว่านั้น ผู้ป่วยกลุ่มที่ตัดมะเร็งออกได้ มีโอกาสหายหรือมีชีวิตอีกได้เกิน 5 ปีเพียงร้อยละ 26 (หรทอประมาณร้อยละ 23-50 ตามระยะมากน้อยของโรค) โดยต้องให้ยารักษามะเร็งเสริมตามความจำเป็นด้วย
ส่วนผู้ที่เป็นมากเลยระยะผ่าตัดได้ และมีความทุกข์ทรมาน ส่วนหนึ่งแพทย์อาจช่วยบรรเทาและอาจช่วยยืดชีวิตด้วยยาได้ แต่ต้องลงทุนค่ายารักษาที่สูงมาก สำหรับเศรษฐกิจเมืองไทย คือ กว่าจะให้การรักษาครบบริบูรณ์จะต้องใช้เงินรายละประมาณเกือบแสนบาท โอกาสที่จะได้ผลประมาณร้อยละ 54 เท่านั้น
ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสยืดชีวิตเกิน 1 ปีได้ประมาณร้อยละ 85 อยู่ได้นานกว่า 2 ปี ร้อยละ 32 และเวลานี้มีผู้มีชีวิตได้นานกว่า 3 ปีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น แต่โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ไม่ได้รักษาหรือรักษาไม่ได้จะไม่มีโอกาสอยู่ได้ถึง 1 ปีเลย
บุหรี่กับมะเร็งปอดจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าที่หลายๆ คนคาดคิด
ขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์หมอชาวบ้าน