กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำผู้ขับรถส่วนตัวและสาธารณะ ก่อนออกเดินทางเตรียมรถและเตรียมร่างกายผู้ขับรถให้พร้อม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและป้องกันสุขภาพ หน้าร้อนแดดแรงเน้นใส่แว่นตากันแดดป้องกันโรคต้อกระจก ต้อเนื้อ ต้อลม รวมทั้งอุบัติเหตุจากการมองเห็นไม่ชัด
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนนี้ ครอบครัวต่างพาบุตรหลานไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด บางครอบครัวขับรถไปเอง บางครอบครัวใช้บริการรถตู้จ้างเหมา บางครอบครัวใช้รถสาธารณะ จากข้อมูลการสำรวจ พบว่า ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีผู้ประกอบการอาชีพขับรถโดยสาธารณะประมาณ 2 แสนคน ได้แก่ รถประจำทาง รถตู้โดยสาร รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซด์รับจ้างและสามล้อรับจ้าง ในแต่ละวันมีผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน และทุกครั้งที่ขับรถก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งที่เกิดจากตนเองหรือจากผู้อื่น
"ผู้ที่ขับขี่รถทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นรถส่วนตัวหรือรถสาธารณะ ก่อนขับรถต้องมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อจะได้ทำหน้าที่ได้อย่างปลอดภัย" และหากผู้ขับรถมีสุขภาพไม่ดี เช่น เป็นโรคที่อาจกำเริบกะทันหัน ได้แก่ โรคหัวใจ โรคลมชัก หรือมีปัญหาทางสายตา หรือกินยาที่ทำให้ง่วง ก็อาจเกิดอุบัติเหตุเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้โดยสารได้ ดังนั้นเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และสร้างความมั่นใจให้กับผู้รับบริการ
ก่อนขับรถต้องเตรียมความพร้อมดังนี้ ตรวจสภาพรถและตรวจสุขภาพตนเอง ได้แก่
1.ห้ามขับรถหลังกินยาที่ทำให้ง่วง และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
2.ป่วยเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจหรือลมชัก ต้องกินยาให้สม่ำเสมอ หากขาดยาไม่ควรขับรถ
3.ผู้มีปัญหาสายตาสั้นควรสวมแว่นสายตาขณะขับรถ
4.หากเป็นหวัด ไอ ให้ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค
นายพสิษฐ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ขณะขับรถ ควรปฏิบัติดังนี้
1.เปิดหน้าต่างเป็นระยะๆ เพื่อการถ่ายเทของอากาศ
2.หลีกเลี่ยงการขับรถเป็นเวลานาน
3.ถ้าปวดเมื่อยหลังขณะขับรถใช้หมอนเล็กๆ สอดไว้ที่หลังส่วนล่างระหว่างเบาะกับหลัง แต่ไม่ควรพิงหมอนนี้ตลอดการเดินทาง เพราะจะเกิดความล้าต่อหลัง
4.จิบน้ำบ่อย ๆ
5.ในวันที่มีแสงแดดแรงจัดจะทำให้ผู้ขับขี่สายตาพร่ามัว ควรสวมแว่นตากันแดด และใช้ที่บังแดดหน้ารถร่วมด้วย
ด้าน ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หน้าร้อนแว่นตากันแดดจำเป็นมากสำหรับผู้ขับรถและผู้ที่ต้องอยู่กลางแจ้ง แว่นที่เหมาะกับกิจกรรมกลางแจ้งควรป้องกันรังสียูวีได้ 95 เปอร์เซ็นต์ และกรองแสงได้ 60-90 เปอร์เซ็นต์ การเลือกแว่นตากันแดดโดยพื้นฐานต้องดูที่ฉลากบอกคุณสมบัติว่าสามารถป้องกันรังสี ยูวีเอ (uva) และยูวีบี (uvb) ได้เท่าไร การเลือกซื้อแว่นตากันแดด คุณภาพไม่เกี่ยวกับราคาหรือยี่ห้อ เพราะจากการทดสอบคุณภาพแว่นตาต่อการป้องกันแสงยูวี พบว่าแว่นราคา 199 บาท ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยของอเมริกา (the american national standards) ในการป้องกันแสงยูวีได้เหมือนแว่นแบรนด์เนมราคาแพง
นอกจากนี้ แว่นที่มีเลนสีเข้มหรืออ่อน ก็ไม่มีผลต่อการป้องกันรังสียูวี เพราะรังสียูวีไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยสายตามนุษย์ แว่นใสหากมีคุณสมบัติกรองรังสียูวี ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน เพียงแต่แว่นใสไม่สามารถป้องกันความจ้าของแสงแดดได้ รังสีอุลตร้าไวโอเลต 2 ชนิด ได้แก่ ยูวีเอ (uva) และยูวีบี (uvb) จะทำลายตา ดังนี้ รังสียูวีเอ (uva) จะดูดซับที่เลนซ์แก้วตา ถ้าได้รับปริมาณมากจะเกิดต้อกระจก รังสียูวีบี (uvb) จะดูดซับที่กระจกตาและเยื่อบุลูกตาอาจทำให้เกิดต้อลม ต้อเนื้อ หรือต้อกระจก ส่วนแสงแดดจ้าที่ตามองเห็น จะดูดซับที่จอประสาทตา หากมองแสงจ้ามากไป เช่น มองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าตรงๆ อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
"ดังนั้นการขับรถหน้าร้อนจึงขอแนะนำให้ใช้แว่นตากันแดด ที่ลดแสงจ้าและป้องกันรังสียูวีเอ และรังสียูวีบี เพื่อเป็นการถนอมดวงตาในระยะยาว" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก : สสส