มะรุม พืชที่ทุกคนอยากรู้ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

มะรุม พืชที่ทุกคนอยากรู้

Date : 10 February 2016

คำเตือน : ผู้ป่วยที่ใช้มะรุมติดต่อเป็นเวลานานๆ ควรตรวจการทำงานของตับ เพราะพบว่าผู้ป่วยบางรายที่ใช้มะรุมติดต่อกันเป็นเวลานาน แล้วพบว่าเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้น
 

ระยะนี้มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการใช้มะรุมรักษาโรคต่างๆ และพบกระทู้ข่าวในInternet มากมาย รวมทั้งมีโทรศัพท์เข้ามาถามที่สำนักงานข้อมูลสมุนไพรอยู่บ่อยครั้ง ทางสำนักงานฯ จึงรวบรวมข้อมูลการวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และเป็นแนวทางที่จะช่วยในการตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์มะรุมต่างๆ เพื่อดูแลสุขภาพ ป้องกันหรือรักษาโรค ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบพืชสด แห้ง เป็นแคปซูล หรือเป็นสารสกัด
 

ในตำรายาพื้นบ้านใช้ใบมะรุมพอกแผลช่วยห้ามเลือด ทำให้นอนหลับ เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ และช่วยแก้ไข้ ใช้ส่วนดอกและผลเป็นยาบำรุง ขับปัสสาวะ และแก้ไข้ ใช้ส่วนเมล็ดบดพอกแก้ปวดตามข้อ และแก้ไข้ 
 

ในภาพรวมของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการวิจัยในระดับเซลล์และสัตว์ทดลองพบว่า มะรุมมีฤทธิ์ ที่น่าสนใจมากมาย เช่น ฤทธิ์ลดความดันโลหิต ต้านการเกิดเนื้องอก ต้านมะเร็ง ลดระดับคอเลสเตอรอล ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันตับอักเสบ ต้านออกซิเดชัน ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดระดับน้ำตาล และฤทธิ์ต้านการอักเสบ
 

มีการศึกษาในคนเพียงชิ้นเดียว โดยมีเพียงรายงานเกี่ยวกับการใช้ยาSeptillin ® ซึ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากพืช 6 ชนิด ได้แก่ มะรุม บอระเพ็ด จิตรลดา มะขามป้อม ชะเอมเทศBalsamodendron mukul (พืชอินเดีย) และเปลือกหอยสังข์ โดยพบว่า Septillin ® ให้ผลดีทางคลินิกในเด็กซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับการติดเชื้อในระบบทาง เดินหายใจส่วนบน และการติดเชื้อที่ผิวหนัง
 

สำหรับงานวิจัยที่น่าสนใจในสัตว์ทดลองมีโดยย่อดังนี้

ฤทธิ์ลดความดันโลหิต

สารสกัดน้ำและเอทานอลของใบมะรุม สารสกัดเอทานอลของผลและฝัก สารในกลุ่ม glycosides ใน สารสกัดเมทานอลของฝักแห้งและเมล็ด แสดงฤทธิ์ลดความดันโลหิตในสุนัขและหนูแรท
 

ฤทธิ์ต้านการเกิดเนื้องอกและฤทธิ์ต้านมะเร็ง

สารสำคัญในกลุ่ม thiocarbamate จากใบสารสกัดเอทานอลของเมล็ด แสดงฤทธิ์ทั้งยับยั้งการเจริญเติบโต และทำลายเซลล์มะเร็ง เมื่อป้อนสารสกัดของผลและฝัก ขนาด 5 มก./กก. น้ำหนักตัว มีผลลดจำนวนหนูเม้าส์ที่เป็นมะเร็งผิวหนังได้
 

ฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอล

สารสกัดน้ำของส่วนใบ มีผลลดระดับคอเลสเตอรอลและลดการเกิด plaque ในหลอดเลือดของหนูแรทและกระต่ายซึ่งได้รับอาหารชนิดที่มีไขมันสูง การทดสอบโดยให้กระต่ายที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงและกระต่ายปกติ โดยให้กินผลมะรุมขนาด 200 มก./กก. น้ำหนักตัว ต่อวัน นาน 120 วัน เปรียบเทียบกับยาลดไขมันโลวาสแตทิน 6 มก./กก. น้ำหนักตัว ต่อวัน และให้อาหารไขมันมาก พบว่ามีผลลดระดับคอเลสเตอรอล, phospholipids, triglycerides, low density lipoprotein (LDL), very low density lipoprotein (VLDL), อัตราส่วนระหว่างคอเลสเตอรอลและ phospholipids และ atherogenic index ในกระต่ายกลุ่มแรกได้
 

ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

สารสกัดเมทานอลของใบ และสารสกัดเมทานอลจากส่วนดอก สามารถยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูแรท ซึ่งถูกเหนี่ยวนำโดยแอสไพรินได้ ในขณะที่สารสกัดน้ำจากใบมีผลป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วย
 

ฤทธิ์ป้องกันตับอักเสบ

สารสกัด80% เอทานอลจากใบ สารสกัดน้ำและสารสกัดเอทานอลจากดอก มีฤทธิ์ป้องกันการทำลายเซลล์ตับหนูแรทที่ได้รับ acetaminophen (ยาพาราเซตามอล) และสารสกัดน้ำจากส่วนรากแสดงฤทธิ์ป้องกันการทำลายเซลล์ตับหนูแรทจากการ เหนี่ยวนำโดยยาไรแฟมพิซิน
 

ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน

สารสกัด 80% เมทานอล และสารสกัด 70% เอ ทานอลจากส่วนใบ ผงแห้งบดหยาบและสารสกัดน้ำจากเมล็ด และสารในกลุ่ม phenol จาก ส่วนราก สามารถต้านและกำจัดอนุมูลอิสระได้
 

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

น้ำคั้นสดของใบ สารประกอบคล้ายpterygospermin ของดอก สารสกัดอะซีโตนและสารสกัดเอทานอลจากเมล็ด สารสกัดน้ำจากเมล็ด น้ำคั้นจากเปลือกต้น สารสกัดเอทานอลของเปลือกราก และสาร athomin จากเปลือกราก มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด นอกจากนี้ยังมีการใช้สารสกัดน้ำมันจากเมล็ด ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ กับตา โดยพบว่าใช้ได้ดีกับ pyodermia ในหนูเมาส์ ที่มีสาเหตุมาจาก Staphylococcus aureus
 

ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาล

ผงใบแห้ง สารสกัด 95% เอทานอล และเถ้าจากเปลือกต้น มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูแรทปกติ และหนูที่เป็นเบาหวาน ส่วนสารสกัดเมทานอลจากเปลือกรากแสดงฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในหนูเม้าส์
 

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

ชาชง น้ำร้อน และสารสกัดเมทานอลจากราก มีฤทธิ์ยับยั้งอาการบวมที่อุ้งเท้าหลังของหนูแรทและหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยว นำด้วยคาราจีแนน ในขณะที่เมล็ดแก่สีเขียว สารสกัดเอทานอลจากเมล็ดแห้ง และสารสกัดเอทานอลจากเมล็ด มีผลลดการอักเสบของทางเดินหายใจในหนูตะเภา ซึ่งยืนยันถึงการใช้มะรุมในทางพื้นบ้านเพื่อบำบัดอาการผิดปกติจากภูมิแพ้ เช่น หอบหืด สารสกัดเอทานอลจากเมล็ด สามารถลดการบวมของอุ้งเท้าบริเวณข้อของหนูแรท และพบว่าสารสกัดมะรุมมีผลลด oxidative stress ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วย
 

ความเป็นพิษ

มีการรายงานความเป็นพิษของมะรุมในระดับเซลล์และในสัตว์ทดลองว่า

  •  สารสำคัญ4(alpha-L-rhamnosyloxy) phenylacetonitrile จากเมล็ด แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์ใน Micronucleus test
  •  สารสกัดน้ำจากใบ หรือ 90% เอ ทานอล ในขนาด 175 มก./กก. ของน้ำหนักแห้ง เมื่อป้อนให้หนูแรทที่มีการผสมพันธุ์ สามารถทำให้เกิดการแท้งได้
  •  สารสกัดน้ำของรากขนาด 200 มก./กก.น้ำหนักตัว เมื่อให้กับหนูแรท จะเหนี่ยวนำให้เกิดทารกฝ่อ (foetal resorption) ในการตั้งครรภ์ระยะสุดท้าย
  •  สารสกัดเมล็ดด้วย0.5 M borate buffer มีผลทำให้เม็ดเลือดแดงของกระต่ายรวมตัวกัน

เมื่อให้หนูแรทกินผงของเมล็ดดิบที่แก่ของมะรุม โดยไม่จำกัดจำนวนเป็นเวลา 5 วัน พบว่าทำให้ความอยากอาหาร การเจริญเติบโตและการใช้โปรตีนลดลง ขนาดของกระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับ ตับอ่อน ไต หัวใจ และปอดใหญ่ขึ้น ในขณะที่ต่อมไทมัส และม้ามมีลักษณะฝ่อลง โดยเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีไข่ขาวเป็นส่วนประกอบ

การทดสอบความเป็นพิษโดยให้หนูเม้าส์กินส่วนราก หรือฉีดสารสกัดไม่ระบุชนิดตัวทำละลายเข้าใต้ผิวหนัง ในขนาด 10 ก./กก. น้ำหนักตัว ไม่พบความเป็นพิษ
 

การทดลองในสัตว์เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่มีประโยชน์เพื่อการทำวิจัยต่อยอดไป ยังการทดลองในมนุษย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตัวทำละลายที่นักวิจัยใช้ในการสกัดจะมีทั้งน้ำ และแอลกอฮอล์ เพื่อให้สะดวกต่อการป้อนสัตว์ทดลอง ซึ่งข้อมูลข้างต้นเป็นความรู้ที่จะทำให้สามารถหาส่วนสกัดที่มีสารสำคัญได้ หากจะรับประทานใบ เนื้อในฝัก หรือดอกมะรุม ซึ่งเราใช้เป็นอาหารมานานแล้วเพื่อการรักษาโรค ก็อาจทำได้แต่อย่าหวังผลมากนัก และไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก หรือติดต่อกันนานเกินไป ซึ่งอาจมีการสะสมสารบางอย่างและอาจเป็นพิษได้ และจากรายงานความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง ซึ่งพบว่าทำให้เกิดการแท้ง ดังนั้นควรระมัดระวังการใช้ส่วนต่างๆ ของมะรุมในสตรีมีครรภ์
 

รายละเอียดที่นำเสนอนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ นำมาจากบทความเรื่อง

“มะรุม: พืชสมุนไพรหลากประโยชน์”

โดยรองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข ซึ่งอยู่ในจุลสารข้อมูลสมุนไพรฉบับ 26(4) ที่กำลังจะนำมาเผยแพร่สู่ประชาชนในเดือนกรกฎาคม 2552

เรียบเรียงโดย : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล