สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เตือนผู้ป่วยโรคหัวใจ หากมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ต้องมาถึงโรงพยาบาลภายใน 3 ชั่วโมง จะมีโอกาสรอดมากกว่า 80%
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคหัวใจในไทยว่าค่อนข้างน่าห่วงเพราะสถิติผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยฉุกเฉิน 130,942 คน และยังมีอีกอาการโรคหัวใจที่น่าห่วงคือ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จำเป็นต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือด หรือถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ เพื่อให้เลือดกลับไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจให้เร็วที่สุดภายใน 6ชั่วโมง ทำให้มีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น และหากมาถึงภายใน 3 ชั่วโมงจะยิ่งมีโอกาสรอดมากกว่า 80% แต่ที่ผ่านมาส่วนมากจะมาถึงช้ากว่า 3 ชั่วโมง
ทั้งนี้ สพฉ.ร่วมกับ ม.มหิดลวิจัยพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยสำรวจการให้บริการผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จาก18 โรงพยาบาล ใน 5 ภูมิภาค พบ 72% จะมีอาการที่บ้าน เป็นผู้ชายมากกว่าหญิงถึง 3 เท่าขณะเกิดเหตุ กว่า 50% จะรอดูอาการ ขณะที่23% จะรีบไปโรงพยาบาลหากไม่ทุเลาใน 5 นาทีมีเพียง 4% ที่มาโดยระบบการแพทย์ฉุกเฉินหรือโทรแจ้งสายด่วน 1669 เนื่องจากคิดว่าไปโรงพยาบาลเองจะเร็วกว่า ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รักษาในโรงพยาบาลเฉพาะ หากไปผิดจะยิ่งเสียเวลาเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงโอกาสรอดชีวิตก็ลดลงด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ