เคล็ดลับง่ายๆ คุยกับลูกเรื่องเพศ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

เคล็ดลับง่ายๆ คุยกับลูกเรื่องเพศ

Date : 25 February 2016

พ่อแม่ผู้ปกครองอาจคิดว่าคนที่จะคุยกับลูกเรื่องเพศได้ ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นหมอ เป็นครู หรือนักจิตวิทยา และเกิดความไม่มั่นใจว่าตัวเองจะสามารถตอบข้อสงสัยของลูกได้ แต่ที่จริงแล้วการพูดคุยเรื่องเพศกับลูกหลาน ใครๆ ก็ทำได้ วันนี้เราจึงมีเคล็ดลับง่ายๆ มาแนะนำผู้ปกครองให้สามารถคุยกับลูกเรื่องเพศได้แบบไม่ต้องเขินอาย ดังนี้

1.ตอบตรงไปตรงมา พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรตอบเลี่ยงๆ หรือโกหก เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี เช่น เมื่อลูกถามว่า “หนูเกิดมาจากไหน” ก็ไม่ควรโกหกว่า “เก็บมาจากถังขยะ” หรือ “เกิดมาจากกระบอกไม้ไผ่” เพราะนอกจากจะทำให้เด็กสับสนและไม่เกิดการเรียนรู้แล้ว หลายคนเมื่อเติบโตขึ้นและรู้ว่าสิ่งที่พ่อแม่พูดไม่เป็นความจริง อาจทำให้เด็กรู้สึกน้อยใจ หรือขาดความเชื่อมั่นเชื่อถือในตัวผู้ปกครอง

2.สร้างมุมมองเชิงบวกต่อร่างกายตัวเอง คำตอบของพ่อแม่ผู้ปกครองควรส่งเสริมให้เด็กรู้สึกดีกับร่างกายตัวเอง เพราะจะเป็นพื้นฐานให้พวกเขาแสวงหาข้อมูลและดูแลตัวเองได้ เช่น เมื่อลูกถามเรื่องประจำเดือนไม่ควรตอบว่าเป็นเลือดเสียหรือของสกปรก เพราจะทำให้ลูกไม่มั่นใจ รังเกียจอวัยวะและเลือดประจำเดือนของตัวเอง ไม่กล้าซื้อหรือพกผ้าอนามัย แต่ควรตอบตามข้อเท็จจริงว่า ประจำเดือนคือ กลไกตามธรรมชาติในร่างกายผู้หญิง หรือเมื่อลูกเล็กๆ แล้วชอบสัมผัสอวัยวะเพศ ก็ไม่ควรดุ ตี หรือห้ามปราม แต่ควรสอนเรื่องความเป็นส่วนตัว เช่น เป็นของส่วนตัวนะลูก อย่าเปิดให้คนอื่นดู อย่าให้คนอื่นจับ ซึ่งงจะทำให้เด็กๆ รู้จักดูแลร่างกายเมื่อเขาเติบโตขึ้น

3.ตอบให้เหมาะสมกับวัย เด็กๆ มักจะมีความสนใจเรื่องเพศและความสามารถในการทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้แตกต่างกันตามช่วงวัย ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองควรรู้ถึงวิธีตอบคำถาม หรือพูดคุยให้สอดคล้องกับการรับรู้ของพวกเขา และต้องมีการตอบที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

เด็กวัยก่อนเข้าเรียน (อายุ 3-4 ปี) เด็กวัยนี้จะสนใจเรื่องความแตกต่างของสรีระร่างกาย มักเปรียบเทียบร่างกายตัวเองกับคนอื่น แต่ยังแยกแยะบทบาทระหว่างเพศไม่ได้ ซึ่งในวัยนี้ยังไม่ต้องการคำตอบที่ซับซ้อน ควรตอบสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ ไม่ต้องให้เหตุผลยืดยาว เพราะลูกแค่อยากรู้สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนอยากรู้ว่าฝนมากจากไหน เท่านั้น

เด็กวัยเรียน (อายุ 5-8 ปี) เด็กวัยนี้เริ่มมีสังคมของตัวเอง และเรียนรู้พฤติกรรมจากเพื่อน เริ่มแยกแยะบทบาทสมมติ เริ่มต้องการความเป็นส่วนตัว เริ่มสนใจเรื่องเพศที่ซับซ้อนขึ้น เป็นโอกาสที่ผู้ปกครองจะเริ่มคุยถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงร่างกายก่อนที่จะเข้าสู่วัยรุ่น เป็นการเตรียมความพร้อมให้ลูก ซึ่งเด็กวัยนี้สามารถฟังคำอธิบายที่ซับซ้อนมากขึ้น แต่ควรพูดให้เด็กเห็นภาพที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เช่น เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ผู้ชายลูกอัณฑะจะใหญ่ขึ้นและมีอสุจิ สามารถทำให้ผู้หญิงตั้งท้องได้ ส่วนผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือน รังไขจะผลิตไข่ ทำให้ตั้งท้องได้ถ้ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

วัยรุ่น (อายุ 13-17 ปี ) เด็กวัยนี้ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ ถูกคาดหวังให้ตัดสินใจ และเริ่มรับผิดชอบชีวิตตัวเอง จึงเป็นช่วงวัยของการปรับตัว วัยนี้จะให้ความสำคัญกับการเป็น “พวกเดียวกัน” อยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม กลัวการแปลกแยกแตกต่าง และจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าต่อเมื่อเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน

คำถามของวัยรุ่นมักเกี่ยวกับภาพลักษณ์ และค่านิยมเรื่องเพศ ผู้ปกครองควรพูดคุยให้เขารู้จักเคารพคนทุกเพศ รู้สึกมั่นใจที่จะแตกต่าง รวมทั้งให้ความรู้เรื่องการป้องกัน ทั้งการตั้งท้องและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ไม่มีคำว่าสายเกินไป สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ยังไม่ได้คุยเรื่องเพศกับลูก เพราะการสื่อสารเรื่องเพศไม่ใช่เพียงการให้ข้อทูลความรู้ พ่อแม่จึงไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง หรือตอบได้ทุกคำถาม แต่สิ่งสำคัญคือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน และสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจให้ลูกว่าพ่อแม่คือผู้ที่ลูกคุยด้วยได้เสมอ แม้ยามเกิดความผิดพลาดในชีวิต เพราะเด็กทุกคนต้องเติบโต และมีพัฒนาการทางเพศตามธรรมชาติ เมื่อผู้ใหญ่ไม่คุย เด็กๆ ก็หันไปเรียนรู้เรื่องเพศจากทางอื่น ซึ่งพ่อแม่ทุกคนเริ่มสร้างได้ตั้งแต่วันนี้

ข้อมูลจาก: แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
เรียบเรียงโดย : แพรวพรรณ สุริวงศ์ team content www.thaihealth.or.th