เทคนิคพัฒนาสมองเจ้าตัวน้อย | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

เทคนิคพัฒนาสมองเจ้าตัวน้อย

Date : 29 February 2016

สำหรับเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิด จนถึงอายุ 6 ปี เป็นช่วงเวลาที่ "สมอง" จะพัฒนามากที่สุดถึง 80% จึงมีหลายคนบอกว่า ช่วงวัยนี้ถือเป็น "ความมหัศจรรย์ของมนุษย์" 

“สมอง” ของคนเราแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สมองซีกซ้าย จะเป็นส่วนที่รับรู้ทางด้านศาสตร์การคิดต่างๆ อาทิ เชิงเหตุผล การวิเคราะห์ภาษา การเขียน การคำนวณ หรือการเคลื่อนไหวต่างๆ และ สมองซีกขวา จะเป็นส่วนที่รับรู้ทางด้านศิลปะ อาทิ จินตนาการ คุณธรรม ศิลปะ อารมณ์สุนทรีย์ เป็นต้น

จะพัฒนาสมองของเด็กอย่างไร

1. สมองของเด็กวัยแรกเกิด – 1
สมองของเด็กสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนก่อนคลอด อารมณ์ความรู้สึกของแม่มีผลกระทบถึงลูกในท้องได้ด้วย ซึ่งช่วงเวลานี้สามารถกระตุ้นสมองของลูกด้วยการเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟัง หรือพูดคุยกับลูก เมื่อถึงช่วงแรกเกิดเด็กจะสามารถจดจำใบหน้าของคนได้ สามารถกระตุ้นด้วยการให้ลูกเห็นหน้าบ่อยๆ พูดคุย หรือกระตุ้นการมองเห็นด้วย ของเล่น โมบาย เป็นต้น

สภาพแวดล้อมสำหรับเด็กช่วงวัยนี้ ก็มีส่วนสำคัญ ซึ่งควรมีบบรรยากาศที่โปร่งโล่ง สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ ไม่เงียบจนเกินไป โดยเสียง เป็นอีกปัจจัยในการพัฒนาทางสมอง ช่วยกระตุ้นการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาท ทำให้สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อถึงวัยเริ่มคลานเด็กจะเริ่มสนใจของเล่นมากขึ้น การให้ของเล่นแก่เด็กในวัยนี้ ของเล่นนั้นช่วยให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วยการ ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือการมองเห็น การได้ยิน การใช้ปาก จมูก และการสัมผัส หากเราเสริมเติมเต็มสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะดีมาก เด็กจะได้เริ่มเรียนรู้หลักพื้นฐานของเหตุผลและผลจากการเล่นด้วยนั่นเอง แต่ควรระวังเรื่องความปลอดภัยเพราะเป็นช่วงหยิบของเข้าปาก ซึ่งของเล่นเด็กจะต้องได้มาตรฐาน มีฉลากระบุเฉพาะเจาะจงกลุ่มอายุของเด็ก และปลอดสารพิษ (non-toxic)


2. สมองของเด็กวัย 1-2 ปี
กล้ามเนื้อของเด็กในวัยนี้แข็งแรงขึ้น แล้วสามารถเดินได้ ทรงตัวได้ดีขึ้น มีการประสานความสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อต่างๆ ได้ดีขึ้น สามารถขีดเขียนได้ แยกความแตกต่างของอวัยวะ และรับประทานอาหารเองได้บ้างแล้ว

สำหรับการพัฒนาสมองของเด็กช่วงวัยนี้ทำได้โดย ฝึกให้หยิบจับของด้วยตนเอง ซึ่งต้องเป็นสิ่งของที่ไม่เป็นอันตราย โดยมีพ่อแม่ดูแลอยู่ห่างๆ ให้เด็กลองผิดลองถูก รวมถึงการชวนพูดคุย จะช่วยฝึกการสื่อสารอีกด้วย เพราะสมองของเด็กวัย 1 ปี พร้อมที่จะจำตัวอักษรต่างๆ พอๆ กับการฟัง และเข้าใจภาษาได้หลายภาษา ผู้ปกครองจึงสามารถอ่านหนังสือให้เด็กฟัง และให้ลองออกเสียงตามได้


3. สมองของเด็กวัย 2-6 ปี
ร่างกายของเด็กวัยนี้มีความแข็งแรงมากขึ้น สามารถเดินและวิ่งได้ เริ่มเข้าสังคม ชอบทำกิจกรรมต่างๆ ชอบเล่นกับเพื่อน ช่างสงสัย ชอบถาม เพราะต้องการจะเรียนรู้สิ่งใหม่ การตอบคำถามของพ่อแม่มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ และเข้าใจในเรื่องที่ถูกหรือผิดได้

นอกจากนี้ การส่งเสริมด้านจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ของเด็กในวัยนี้ก็มีความสำคัญ เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นความคิดสร้างสรรค์จะลดน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยเหตุผล ฉะนั้นลองพาเขาไปสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย เช่น พิพิธภัณฑ์ ธรรมชาติ การทำอาหาร ศิลปะ งานฝีมือ ดนตรี หรือการได้เล่นกับเด็กคนอื่นๆ เมื่อคุณให้โอกาสลูกคุณได้สัมผัสและมีประสบการณ์กับสิ่งเหล่านี้ พวกเขาจะเกิดความสงสัย และเกิดความคิดสร้างสรรค์อยู่ในหัวของเขา เด็กจะคิดสงสัยว่าสิ่งต่าง ๆ ทำงานอย่างไร มันมีหน้าตาอย่างไร หมวดไหนที่เขาชอบ เขาจะคิดถึงดวงอาทิตย์ โคลน ใบไม้ ดอกไม้ สิ่งต่างๆ ที่พวกเขาชอบเล่น

การส่งเสริมให้ลูกได้ฝึกฝนความสามารถของเขาให้เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ นั่นหมายความว่าเรากำลังสร้างพลังความมั่นใจที่ลูกต้องใช้ในการตัดสินใจ หรือเมื่อเขาต้องเจอกับภาวะกดดัน ลูกสามารถที่จะยืนหยัดต่อสู้กับมันได้และ ไม่กลัวกับความล้มเหลว และที่สำคัญ เขาจะไม่กลัวที่จะคิดนอกกรอบ

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่า ความฉลาดประกอบด้วยความสมบูรณ์ของสมองและกระบวนการเรียนรู้ แสดงออกทางพฤติกรรมด้านต่างๆ ของลูกน้อย การใช้ชีวิตแก้ปัญหา เอาตัวรอดได้แล้ว แต่อีกคุณสมบัติที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความฉลาด เรื่องของคุณธรรมที่ต้องอาศัยการปลูกฝังตั้งแต่เด็กเช่นกัน
 
 
ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือมหัศจรรย์ 0-6 ปี ช่วงเวลาทองของการพัฒนาสมอง แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th