เยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

เยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส

Date : 9 March 2016

เยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีอยู่หลายชนิด บางชนิดสามารถติดเชื้อได้ง่ายและระบาดรวดเร็ว เรียกว่า “โรคตาแดงระบาด”  โรคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นไม่รุนแรง และหายได้เองภายใน ๑-๓ สัปดาห์  ส่วนน้อยที่อาจเป็นรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อน หรือจำเป็นต้องแยกจากสาเหตุอื่น

ชื่อภาษาไทย
เยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส โรคตาแดงระบาด

ชื่อภาษาอังกฤษ
Viral conjunctivitis, Epidemic Keratoconjunctivitis/EKC

สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่สำคัญได้แก่ กลุ่มไวรัสอะดิโน (adenovirus) และกลุ่มไวรัสพิคอร์นา (picornavirus) ซึ่งแต่ละกลุ่มประกอบด้วยไวรัสชนิดย่อยๆ อีกหลายชนิด
โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรง หรือสัมผัสถูกมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ (เช่น แว่นตา แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า หมอน สบู่ ขันน้ำ ลูกบิดประตู ประตูตู้เย็น โทรศัพท์ เป็นต้น) ที่แปดเปื้อนเชื้อ (โดยที่ผู้ป่วยใช้มือขยี้ตาข้างที่อักเสบ แล้วไปสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้เหล่านั้น) หรืออาจติดต่อจากการเล่นน้ำในสระที่มีเชื้อปนเปื้อนจากผู้ป่วยที่ลงเล่นน้ำ
ในรายที่มีอาการเจ็บคอร่วมด้วย ก็อาจติดต่อโดยการที่ผู้ป่วยไอหรือจามรดหน้า หรือสัมผัสถูกน้ำลายหรือเสมหะในช่องปากของผู้ป่วย
ระยะฟักตัวของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัส ส่วนใหญ่ ๕-๑๒ วัน
ไวรัสที่มีชื่อว่า แอนเทอโรชนิด ๗๐ (enterovirus type 70) และ ไวรัสค็อกแซกกีเอ ชนิด ๒๔ (coxsackie virus A type 24) ที่ทำให้เยื่อตาขาวอักเสบร่วมกับเลือดออกใต้ตาขาว มีระยะฟักตัว ๑-๒ วัน

อาการ
มีอาการตาแดง เคืองตาคล้ายผงเข้าตา กลัวแสง น้ำตาไหล มีขี้ตาเล็กน้อยลักษณะสีขาว อาจมีอาการหนังตาบวม ลืมตาไม่ค่อยขึ้น
บางรายอาจมีอาการตาแดงเป็นปื้น (จากการที่มีเลือดออกที่ใต้ตาขาว)
บางรายอาจมีไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยร่วมด้วยคล้ายไข้หวัด
อาการตาแดง ตาอักเสบจะเริ่มเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงลามมาอีกข้างหนึ่งภายใน ๒-๓ วัน
ส่วนมากอาการจะทุเลาในไม่กี่วัน และจะหายได้เองภายใน ๑-๓ สัปดาห์

การแยกโรค
    ๑.อาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
    • สิ่งแปลกปลอมเข้าตา ทำให้มีอาการเคืองตา ตาแดงขึ้นทันที ภายหลังมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา เช่น ผงฝุ่น เศษเหล็ก แมลง สารระคายเคือง เมื่อล้างหรือเขี่ยออกอาการก็จะ ทุเลาได้ภายใน ๑-๒ วัน
    • เยื่อตาขาวอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยจะมีอาการตาแดง หนังตาบวม มีขี้ตาแฉะ ลักษณะสีเหลืองหรือเขียว มักเป็นที่ตาทั้ง ๒ ข้าง โดยเป็นข้างหนึ่งก่อนแล้วค่อยลามมาอีกข้างหนึ่ง
    • เยื่อตาขาวอักเสบจากการแพ้ ผู้ป่วยจะมีอาการคันตามาก มักจะคันตรงหัวตา ต้องขยี้ ยิ่งขยี้ก็ยิ่งคัน ถ้าขยี้มากๆ หนังตาจะบวมและช้ำ ผู้ป่วยมักมีน้ำตาไหล ตาขาวมีสีแดงเรื่อๆ มักมีประวัติเป็นคนที่แพ้อะไรง่าย หรืออาจมีโรคภูมิแพ้ (เช่น ลมพิษ หวัด ภูมิแพ้) ร่วมด้วย
    • เยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัสเริมหรืองูสวัด ผู้ป่วยจะมีอาการเคืองตา ตาแดง น้ำตาไหลแบบเดียวกับเยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส แต่มักมีประวัติว่ามีผื่นเริมหรืองูสวัดขึ้นที่บริเวณใบหน้าหรือบริเวณใกล้ตาก่อนจะมีอาการตาอักเสบ
    • แผลกระจกตา มักมีประวัติถูกใบหญ้าหรือพืชผักบาดตา หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา หรือมีการใช้เลนส์สัมผัส (ไม่ถูกวิธี) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา เคืองตา ตาแดง น้ำตาไหลต้อหินเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาข้างหนึ่งอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว ซึ่งเกิดขึ้นเฉียบพลัน จะพบว่า ตาขาวข้างนั้น มีลักษณะแดงเรื่อๆ กระจกตาบวมและขุ่น
    ๒. อาการตาขาวแดงเป็นปื้น (แบบรอยห้อเลือด) อาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ (เช่น ถูกแรงกระแทก ถูกต่อย) หรือจากการไอแรงๆ ทำให้หลอดเลือดฝอยที่ใต้ตาขาวแตกเป็นรอยห้อเลือด ซึ่งจะค่อยๆ จางหายไปภายใน ๑-๒ สัปดาห์


การวินิจฉัย
แพทย์มักจะวินิจฉัยจากอาการเคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล (โดยไม่มีอาการคันตา ปวดตามาก ตาพร่ามัว หรือมีขี้ตาลักษณะสีเหลืองหรือเขียว) และมักจะเป็นที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วค่อยลามมาอีกข้างหนึ่ง และบางครั้งพบว่ามีการระบาด  หากไม่แน่ใจ อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น นำสิ่งคัดหลั่งในตาไปตรวจหาเชื้อ

การดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล ควรปฏิบัติดังนี้
    • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามตรากตรำงานหนัก
    • ใช้ยาหยอดตาลดอาการอักเสบ มีชื่อการค้า เช่น ฮิสตาออฟ (Histaoph) สเปอร์ซาลเลิร์ก (spersallerge) หยอดตาทุก ๒-๔ ชั่วโมง
    • ถ้ามีไข้ให้กินยาพาราเซตามอล
    • ถ้าสงสัยหรือแพทย์ตรวจพบว่าเป็นเยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส ผู้ป่วยควรหยุดเรียนหรือหยุดงานนาน ๒ สัปดาห์ ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำกับสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ชโลมมือ หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำในสระ และห้ามใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่กระจายให้ผู้อื่น
    ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ ถ้ามีอาการปวดตามาก ตาพร่ามัว ขี้ตาแฉะ ขี้ตามีลักษณะเหลืองหรือเขียว มีผื่นเริมหรืองูสวัดที่บริเวณใกล้ตา สงสัยมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา มีอาการแขนขาอ่อนแรงตามมา หรืออาการตาอักเสบ ไม่ทุเลาภายใน ๔-๗ วัน

การรักษา
เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นเยื่อตาขาวอักเสบจากไวรัส แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ไข้ (ถ้ามีไข้) และให้ยาหยอดตา ซึ่งอาจให้ยาหยอดตาชนิดที่เข้ายาปฏิชีวนะหยอดทุก ๒-๔ ชั่วโมง เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
ถ้าตรวจพบว่า มีการอักเสบของเยื่อตาขาวอย่างรุนแรง หรือมีการอักเสบของกระจกตาจนทำให้สายตามัวลงอย่างมาก แพทย์จะพิจารณาให้ยาหยอดตาสตีรอยด์ ซึ่งต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง

ภาวะแทรกซ้อน
พบได้น้อย ที่อาจพบได้ เช่น มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือสายตาพร่ามัว เนื่องจากกระจกตาอักเสบ (ซึ่งอาจนานเป็นสัปดาห์ๆ ถึงเป็นแรมปี)
บางรายอาจมีรอยแผลเป็นที่เยื่อตาขาว หรือมีการติดกันของเยื่อตาขาวกับลูกตา
ในรายที่เกิดจากเชื้อไวรัสแอนเทอโรชนิด ๗๐ อาจทำให้เกิดไขสันหลังอักเสบเฉียบพลันแทรกซ้อน มีอาการแขนขาอ่อนแรงได้ ซึ่งพบได้น้อยมาก มักพบในคนอายุมากกว่า ๒๐ ปี หลังตาอักเสบ ๕ วัน ถึง ๖ สัปดาห์

การดำเนินโรค
ส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน ๑-๓ สัปดาห์ ส่วนน้อยที่อาจเป็นเรื้อรังหรือมีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว

การป้องกัน
ระหว่างที่มีการระบาด ควรหาทางป้องกัน โดยแนะนำให้คนทั่วไประวังการสัมผัสกับผู้ป่วย ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ ห้ามใช้มือขยี้ตา อย่าคลุกคลีหรือนอนร่วมกับคนที่เป็นโรคนี้ ห้ามใช้ของใช้ (เช่น แว่นตา ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หมอน แก้วน้ำ จาน ชาม สบู่ ขันน้ำ โทรศัพท์ เป็นต้น) ร่วมกับผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำในสระ

ความชุก
โรคนี้พบได้บ่อยในคนทุกวัย พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ พบได้ประปรายตลอดทั้งปี
อาจพบระบาดในบ้าน ตามหมู่บ้าน โรงเรียน โรงงาน ที่ทำงาน ค่ายทหาร ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม

ข้อมูลสื่อ : นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 393  เดือน/ปี: มกราคม 2555 คอลัมน์: สารานุกรมทันโรค

นักเขียนหมอชาวบ้าน: นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ  https://www.doctor.or.th/article/detail/14716