สังเกต 9 อาการ เสี่ยงโรคซึมเศร้า | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

บทความเรื่องสุขภาพ

Health Article

สังเกต 9 อาการ เสี่ยงโรคซึมเศร้า

Date : 30 March 2016

สธ.เผย คนไทยฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้าติดอันดับ 3 ของโลก รองจากญี่ปุ่น และสวีเดน แพทย์แนะวิธีรับมือโรคซึมเศร้า ก่อนคิดสั้นฆ่าตัวตาย         
โรคซึมเศร้ากลายเป็นสาเหตุคุกคามชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนยิ่งขึ้นทุกวัน โดยข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณะสุข ระบุว่า 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2557 คนไทยฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้า มีประมาณปีละ 4,000 คน เฉลี่ยนเดือนละ 300 กว่าคน ถือเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอันดับ 1 คือ ประเทศญี่ปุ่นและอับดับ 2 คือสวีเดน นับเป็นประเด็นที่ควรตื่นตัวตระหนักรู้ และนี่ไม่ใช่เพียงแค่วิกฤตที่เกิดขึ้นในเมืองไทย เพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2563 โรคซึ่มเศร้าจะมีผู้ป่วยมากเป็นอันดับสอง

ทั้งนี้ จากผลสำรวจยังพบอีกว่า เพศชายฆ่าตัวตาย สำเร็จมากกว่าเพศหญิง สิ่งกระตุ้นหลักๆ คือ การดื่มสุรา ปัญหาสุขภาพ มีทั้งสุขภาพจิตที่เป็นโรคซึมเศร้า ปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังบางราย เกิดความคิดไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน ทำให้คิดสั้น และที่พบมาก คือปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเกิดการทะเลาะกันภายในครอบครัว ผิดหวังเรื่องความรัก ขาดการดูแลเอาใจใส่

ผศ.นพ.พนม เกตุมาน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ข้อมูลว่า คนที่คิดฆ่าตัวตายมักจะเกิดอารมณ์ซึมเศร้านำมาก่อน อาการอาจมีน้อยหรือมากต่างกันไป ซึ่งมีอาการที่สังเกตได้ดังต่อไปนี้
1.อารมณ์ไม่สนุกสนานเหมือนเดิม ไม่มีความสุข เบื่อท้อแท้ หงุดหงิด และเศร้า
2.หมดความสนใจในสิ่งต่างๆ เบื่อสิ่งที่เคยทำแล้วสนุกมีความสุข ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากจเจอใคร
3.เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก บางคนกินมากเพื่อให้หายเครียด ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น
4. นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ หรือตื่นเร็วกว่าเดิม 2-3 ชั่วโมงแล้วนอนต่อไม่ได้บางคนนอนขึ้น เนื่องจากไม่อยากทำอะไร พยายามแต่ก็ไม่หลับ
5.เหนื่อยหน่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่อยากทำอะไร                   
6.ความคิดช้า การเคลื่อนไหวช้า ไม่มั่นใจตนเอง ไม่กล้าคิด ลังเลตัดสินใจลำบาก
7.สมาธิตัวเองไร้ค่า ทำผิด ทำไม่ดี คิดต่อตัวเองไม่ดี
8.คิดว่าตัวเองไร้ค่า ทำผิด ทำไม่ดี คิดต่อตัวเองไม่ดี
9.คิดอยากตายและพยายามฆ่าตัวตาย

ผศ.นพ.พนม กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลส่วนหนึ่งซึ่งทำให้อาการของโรคซึมเศร้าบานปลาย จนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ก็คือการกลัวที่จะถามเรื่องการฆ่าตัวตาย
"ความจริงแล้ว การถามเรื่องการฆ่าตัวตายจะช่วยให้ผู้ที่กำลังคิดจะทำ ได้เปิดเผยเรื่องอารมณ์ซึมเศร้า และเรื่องการคิดอยากตาย เมื่อเปิดเผยแล้ว ความรู้สึกจะดีขึ้นจะไม่ฆ่าตัวตาย สำหรับคนที่ไม่ได้คิดเรื่องนี้ ไม่เป็นการกระตุ้นให้คิดหรือกระทำแต่อย่างใด การสอบถามกันเรื่องนี้ยังสื่อให้ผู้นั้นเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ ที่มีคนสนใจเป็นห่วงใยเอื้ออาทร เกิดความรู้สึกดีต่อสังคมและการมีชีวิตต่อไป และเมื่อทราบว่าใครกำลังคิดทำร้ายตัวเองหรือซึมเศร้ามากๆ ควรพยายามชักจูงให้เขาได้มาพบจิตแพทย์ เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง การรักษาได้ผลดีมาก บางคนหายเป็นปกติกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม อารมณ์ซึมเศร้ามากๆ มักเกิดจากโรคซึมเศร้า ที่เป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งรักษาให้หายได้ด้วยยาและการพูดคุยกัน ไม่ใช่โรคจิตโรคประสาทที่น่ากลัวแต่ประการใด"

การรักษาโรคซึมเศร้า เป็นการแก้ไขสาเหตุของการฆ่าตัวตาย โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ไม่ยาก เนื่องจากปัจจุบันนี้ เรารู้สาเหตุแล้วว่าเกิดจากการทำงานแปรปรวนของสารสื่อนำประสาทที่มีผลต่ออารมณ์ ยารักษาโรคซึมเศร้าช่วยให้การทำงานของสารสื่อนำประสาทนั้นกลับมาเป็นปกติ ผู้ป่วยร้อยละ 80 รักษาให้หายได้ เมื่อได้รับยาร่วมกับการรักษาทางจิตใจ
หากเราสงสัยว่าคนใกล้ชิดมีอาการคล้ายโรคซึมเศร้า เช่น ซึมเฉย เงียบ ไม่พูดไม่จา เฉื่อยชา เชื่องช้า ทำอะไรผิดไปจากเดิมมากๆ การเรียนรู้หรือการทำงานเสียไป บางคนอาจใช้คำพูดเช่น "รู้สึกเบื่อจัง ไม่รู้จะไม่อยู่ไปทำไม" "ฝากดูแลลูกด้วยนะ" หรือดำเนินการบางอย่างที่น่าสงสัยว่า จะไม่อยากมีชีวิตต่อไป เช่น ทำพินัยกรรมโอนทรัพย์สมบัติให้ลูกหลาน เราควรให้ความห่วงใยสอบถามถึงความรู้สึก ความคิดและอาการของโรคซึมเศร้า เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น ทำให้คนที่กำลังซึมเศร้ารู้สึกว่ามีคนห่วงใย มีเพื่อน มีที่พึ่ง ช่วยให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นและไม่คิดอยากฆ่าตัวตาย
         
"ถ้าพบว่าผู้ใดมีอาการของโรคซึมเศร้าข้างต้นเกิน 5 ข้อ ควรแนะนำให้ผู้นั้นมาพบจิตแพทย์ เพื่อรับการตรวจและช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว การรักษาโรคซึมเศร้าได้เร็วจะช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้" ผศ.นพ.พนม ชี้แนะ

ขอบคุณข้อมูล : สสส