ภาวะไตวายเรื้อรัง | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

ภาวะไตวายเรื้อรัง

Date : 5 July 2016

ภาวะไตวาย หมายถึง ภาวะที่เนื้อไตทั้ง ๒ ข้างถูกทำลายจนทำงานไม่ได้หรือได้น้อยกว่าปกติ ทำให้น้ำและของเสียไม่ถูกขับออกมา จึงเกิดการคั่งจนเป็นพิษต่อร่างกาย นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อดุลของสารเกลือแร่ (อิเล็กโทรไลต์) และความเป็นกรดด่างในเลือด รวมทั้งเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนบางชนิดที่ไตสร้าง การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้นำไปสู่ความผิดปกติของอวัยวะแทบทุกส่วนของร่างกาย

ภาวะไตวายสามารถแบ่งเป็น ไตวายเฉียบพลัน (ซึ่งมีอาการเกิดขึ้นฉับพลัน และเป็นอยู่นานเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์) กับ ไตวายเรื้อรัง (ค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย นานเป็นแรมเดือนแรมปี)
ในที่นี้ขอกล่าวถึง ไตวายเรื้อรัง เป็นการเฉพาะ

สาเหตุ    
ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน และความดันโลหิตสูงที่ขาดการรักษาอย่างจริงจัง อาจเกิดจากโรคไตเรื้อรัง ที่สำคัญได้แก่ กรวยไตอักเสบเรื้อรัง (ซึ่งมักไม่แสดงอาการ) นิ่วในไต โรคถุงน้ำไตชนิดหลายถุง (polycystic kidney ซึ่งมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด และถ่ายทอดทางพันธุกรรม)

ผู้ที่ใช้ยาแก้ปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พาราเซตามอล และกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนก) ที่ใช้รักษาอาการปวดข้อ โดยใช้ติดต่อกันทุกวันนานเป็นแรมปี ก็อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรังตามมาได้

นอกจากนี้ ยังอาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ เช่น โรคเกาต์ โรคเอสแอลอี ต่อมลูกหมากโต ภาวะยูริกในเลือดสูง ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง พิษจากสารตะกั่วหรือแคดเมียม เป็นต้น

อาการ    
อาการขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยในระยะแรกอาจไม่มีอาการให้สังเกตได้ชัดเจน และมักจะตรวจพบจากการตรวจเลือด (พบว่ามีระดับครีอะทินีนและบียูเอ็นสูง) ในขณะตรวจเช็กสุขภาพหรือมาพบแพทย์ด้วยโรคอื่น

ผู้ป่วยจะมีอาการชัดเจนเมื่อเนื้อไตทั้ง ๒ ข้างถูกทำลายจนทำหน้าที่ได้น้อยกว่าร้อยละ ๑๕ ของไตปกติ โดยจะสังเกตว่ามีปัสสาวะออกมาก และปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดินบ่อย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ขาดสมาธิ ตามัว ผิวหนังแห้งและมีสีคล้ำ คันตามผิวหนัง ชาตามปลายมือปลายเท้า

บางรายอาจมีอาการหอบเหนื่อย สะอึก เป็นตะคริว ใจหวิว ใจสั่น เจ็บหน้าอก บวม หรือมีเลือดออกตามผิวหนังเป็นจุดแดงจ้ำเขียว หรืออาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด
เมื่อเป็นมากขึ้น จะมีอาการปัสสาวะออกน้อย

 

เมื่อเป็นถึงขั้นสุดท้าย ผู้ป่วยจะมีอาการซึม ชัก หมดสติ

การแยกโรค    
เนื่องจากภาวะไตวายเรื้อรังมีอาการได้ต่างๆ ซึ่งไม่มีความจำเพาะเจาะจง อาการเหล่านี้อาจเกิดจากโรคอื่นๆ ซึ่งแพทย์จะต้องทำการตรวจวินิจฉัยแยกแยะให้แน่ชัด ตัวอย่างเช่น
• อาการบวม ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยในโรคนี้ ก็ต้องแยกจาก โรคไตชนิดอื่น (เช่น โรคหน่วยไตอักเสบ โรคไตเนโฟรติก) โรคตับเรื้อรัง (เช่น ตับแข็ง) ภาวะหัวใจวาย (ซึ่งอาจเกิดจากความดันโลหิตสูง โรคหัวใจต่างๆ)

• อาการซีด ก็ต้องแยกจาก โรคเลือดบางชนิด (เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว โลหิตจางจากภาวะไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น ซึ่งมักจะมีไข้ จุดแดงจ้ำเขียว ร่วมด้วย) โรคโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก (ซึ่งจะตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาธาตุเหล็กบำรุงเลือด)

การวินิจฉัย    
ในรายที่มีอาการที่น่าสงสัย แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น
• ตรวจเลือด พบสารบียูเอ็น (BUN) และ ครีอะทินีน (creatinine) ในเลือดสูง รวมทั้งอาจพบการเปลี่ยนแปลงของระดับเกลือแร่ (อิเล็กโทรไลต์) ในเลือดผิดจากดุลปกติ
• ตรวจปัสสาวะ พบสารไข่ขาว และน้ำตาลในปัสสาวะ รวมทั้งอาจพบเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และสารเคมีต่างๆ ที่ผิดปกติ ขึ้นกับสาเหตุของโรค
• ถ่ายภาพไต ด้วยการเอกซเรย์หรืออัลตราซาวนด์ อาจพบความผิดปกติของไต เช่น นิ่วในไต ไตทั้ง ๒ ข้างฝ่อตัว เป็นต้น
• เจาะเนื้อไตออกพิสูจน์ (renal biopsy) แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการตรวจด้วยวิธีนี้สำหรับผู้ป่วยบางราย ที่ยังไม่พบสาเหตุแน่ชัดจากการตรวจโดยวิธีอื่นมาก่อน

การดูแลตนเอง
ผู้ป่วยที่เป็นไตวายเรื้อรัง ควรติดตามการรักษากับแพทย์อย่าได้ขาด ควรกินยาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรปรับขนาดยาเอง หรือซื้อยากินเอง เพราะยาบางอย่างอาจมีพิษต่อไตได้
นอกจากนี้  ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัว ดังต่อไปนี้
• จำกัดปริมาณโปรตีนที่กินไม่เกินวันละ ๔๐ กรัม โดยลดปริมาณของ ไข่ นม และเนื้อสัตว์ลง (ไข่ไก่ ๑ ฟอง มีโปรตีน ๖-๘ กรัม นมสด ๑ ถ้วยมีโปรตีน ๘ กรัม เนื้อสัตว์ ๑ ขีด มีโปรตีน ๒๓ กรัม) และกินข้าว เมล็ดธัญพืช ผักและผลไม้ให้มากขึ้น
• จำกัดปริมาณน้ำที่ดื่ม โดยคำนวณจากปริมาณปัสสาวะต่อวันบวกกับน้ำที่เสียไปทางอื่น (ประมาณ ๘๐๐ มล./วัน) เช่น ถ้าผู้ป่วยมีปัสสาวะ ๖๐๐ มล./วัน น้ำที่ควรได้รับเท่ากับ ๖๐๐ มล. + ๘๐๐ มล. (รวมเป็น ๑,๔๐๐ มล./วัน)
• จำกัดปริมาณโซเดียมที่กิน ถ้ามีอาการบวมหรือมีปัสสาวะน้อยกว่า ๘๐๐ มล./วัน ควรงดอาหารเค็ม งดใช้เครื่องปรุง (เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสทุกชนิด) ผงชูรส สารกันบูด อาหารที่ใส่ผงฟู (เช่น ขนมปังสาลี) อาหารกระป๋อง น้ำพริก กะปิ ปลาร้า ของดอง หนำเลี๊ยบ)
• จำกัดปริมาณโพแทสเซียมที่กิน ถ้ามีปัสสาวะน้อยกว่า ๘๐๐ มล./วัน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ผลไม้แห้ง กล้วย ส้ม มะละกอ มะขาม มะเขือเทศ น้ำมะพร้าว ถั่ว สะตอ มันทอด หอย เครื่องในสัตว์ เป็นต้น
• ผู้ป่วยไตวายระยะท้ายที่ได้รับการรักษาด้วยการล้างไตโดยการฟอกเลือด (hemodialysis) การล้างไตทางช่องท้อง (continuous ambulatory peritoneal dialysis/CAPD) หรือการปลูกถ่ายไต ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของไตวาย เช่น ให้ยาควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ ผ่าตัดนิ่วในไต เป็นต้น
นอกจากนี้ก็ให้การแก้ไขตามอาการหรือภาวะแทรกซ้อนที่พบร่วม เช่น
• ให้ยาควบคุมความดันโลหิตและไขมันในเลือด (ที่สูงจากโรคนี้) และภาวะหัวใจวายที่เป็นโรคแทรกซ้อน
• ถ้าบวม ให้ยาขับปัสสาวะ
• ถ้าซีด อาจต้องให้เลือด บางรายแพทย์อาจฉีดฮอร์โมน อีริโทรพอยเอทิน (erythropoietin) เพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง (ฮอร์โมนชนิดนี้สร้างที่ไต เมื่อไตวายก็จะขาดฮอร์โมนชนิดนี้)
สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้าย (มักมีระดับครีอะทินีนและบียูเอ็นในเลือดสูงเกิน ๑๐ และ ๑๐๐ มก./ดล. ตามลำดับ ซึ่งไตจะทำหน้าที่ได้ต่ำกว่าร้อยละ ๑๕ ของไตปกติ) แพทย์จะทำการรักษาด้วยการล้างไต (dialysis) ซึ่งมีอยู่ ๒ วิธี ได้แก่ การล้างไตโดยการฟอกเลือด  (กระทำที่สถานพยาบาลสัปดาห์ละ ๒-๓ ครั้ง) และการล้างไตทางช่องท้อง (ซึ่งผู้ป่วยจะทำเองที่บ้านทุกวัน) ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถทำงานออกกำลังกายได้ และมีชีวิตยืนยาวขึ้น

 

ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตหรือเปลี่ยนไต (renal transplantation) โดยใช้ไตบริจาคจากญาติสายตรงหรือผู้บริจาคที่มีไตเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อของผู้ป่วย หลังจากปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น ไซโคลสปอริน) ทุกวันตลอดไป เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่อต้านไตใหม่ วิธีนี้ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นคืนหน้าที่ของไตจนเป็นปกติ สามารถมีชีวิตเช่นคนปกติได้

ภาวะแทรกซ้อน    
โรคนี้มีผลกระทบต่อร่างกายแทบทุกส่วนที่สำคัญ ได้แก่
• เนื่องจากไตขับน้ำไม่ได้ ทำให้มีอาการบวมทั่วตัว และทำให้มีน้ำคั่งในกระแสเลือด เป็นผลทำให้ความดันโลหิต และภาวะหัวใจวายตามมา
• ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง เนื่องจากไตขับสารนี้ได้น้อยลง อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นได้
• ภาวะกระดูกอ่อน ทำให้แตกหักง่าย
• ภาวะซีด (โลหิตจาง) เนื่องจากขาดฮอร์โมนอีริโทรพอยเอทิน
• ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือองคชาตไม่แข็งตัว
• ภูมิต้านทานโรคต่ำ ทำให้เป็นโรคติดเชื้อง่าย และรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ
• เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
• ภาวะแทรกซ้อนทางสมอง เช่น ซึม ชัก หมดสติ

การดำเนินโรค
ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา ก็มักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ รวมทั้งจะค่อยๆ ลุกลามกลายเป็นไตวายระยะท้าย ซึ่งสร้างความยุ่งยากในการรักษามากขึ้น ถึงขั้นต้องล้างไตหรือเปลี่ยนไต
ในรายที่ได้รับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่องก็จะช่วยชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนออกไปได้
ส่วนผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยการล้างไต หรือเปลี่ยนไตก็มักจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีชีวิตยืนยาวนานเกิน ๑๐-๒๐ ปีขึ้นไป

การป้องกัน
๑. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด
๒. รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
๓. ถ้าเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ หรือนิ่วในไต ควรรักษาอย่างจริงจัง จนสามารถควบคุมโรคได้เป็นอย่างดีอย่างต่อเนื่อง
๔. เมื่อเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ) หรือมีภาวะอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ (เช่น นิ่ว ต่อมลูกหมากโต) จะต้องได้รับการรักษาให้หายขาด อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง
๕. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อไต ที่สำคัญคือ อย่ากินยาแก้ปวดหรือยาแก้ปวดข้อติดต่อกันนานๆ

ความชุก
โรคนี้พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ผู้ที่มีอายุเกิน ๖๕ ปี คนอ้วน ผู้ที่สูบบุหรี่ และผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดหรือยาแก้ปวดข้อ ติดต่อกันนานๆ


ข้อมูลสื่อ
ชื่อไฟล์: 387-022 นิตยสารหมอชาวบ้าน  เล่มที่: 387
เดือน/ปี: มกราคม 2554 คอลัมน์: สารานุกรมทันโรค
นักเขียนหมอชาวบ้าน: นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ